กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.44) เวลา 09.30 น. ที่ศาลาประชาคม เขตหนองจอก นายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนา ผู้นำท้องถิ่น กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน เขตหนองจอก และบรรยายในหัวข้อ “บทบาท กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน กับภารกิจของกรุงเทพมหานคร” โดยมีนายเทเวศร์ ทองศรี ผู้อำนวยการเขตหนองจอก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก สมาชิกสภาเขตหนองจอก ข้าราชการและลูกจ้างเขตฯ ร่วมพิธี
ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กล่าวรายงานในพิธีเปิดว่า เขตหนองจอก เป็นเขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีลักษณะผสมผสานระหว่างความเป็นสังคมเมืองกับสังคมชนบท มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเป็นผู้นำท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นผู้สะท้อนสภาพปัญหาความต้องการและประสานความสัมพันธ์ระหว่างส่วนราชการกับประชาชน ในฐานะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเขต และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนของประชาชน ที่มีความสำคัญต่อการปกครองท้องถิ่นรูปแบบกรุงเทพมหานคร ดังนั้น สำนักงานเขตหนองจอกจึงได้จัดโครงการสัมมนาศึกษา ดูงาน ของผู้นำท้องถิ่นขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 เม.ย.44 มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 100 คน ข้าราชการลูกจ้างเขต จำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 120 คน โดยในวันที่ 3 เม.ย.44 เป็นการสัมมนาแบบบรรยาย ณ ศาลาประชาคม เขตหนองจอก ส่วนวันที่ 4-6 เม.ย.44 เป็นการสัมมนาศึกษา ดูงาน ณ จ.พังงา จ.ตรัง จ.สตูล และ จ.สงขลา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการสัมมนาได้รับความรู้และประสบการณ์ สามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงให้การบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการพัฒนาวิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่นและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันในการปฏิบัติงาน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นผู้นำท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อการปกครองท้องถิ่นรูปแบบกรุงเทพมหานคร ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของผู้นำท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับแนวคิด มุมมอง ที่แตกต่างจากความคิดเดิมของตนเอง รวมทั้งได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้นอีกด้วย สำหรับในส่วนที่จะมีการเดินทางไปสัมมนาศึกษาดูงานในจังหวัดภาคใต้นั้น ก็ถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสัมมนาอย่างมาก เนื่องจากประชาชนภาคใต้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีสภาพคล้ายคลึงกับสภาพการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมของชาวหนองจอก นอกจากนี้ทรัพยากรของชุมชนชาวหนองจอก ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ หากผู้เข้ารับการอบรมนำประสบการณ์จากการไปสัมมนาครั้งนี้มาประยุกต์ในการพัฒนาอาชีพ การบริหารงาน ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวหนองจอกยิ่งขึ้นต่อไป--จบ--
-นห-