กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--ม.เกษตรศาสตร์
มก. มม. มธ. บันทึกประวิติศาสตร์วงการอุดมศึกษาไทย ผนึกกำลังประสานความร่วมมือทางวิชาการพัฒนาอุดมศึกษาไทยให้มีฐานแน่นยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2543 ได้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การประสานร่วมมือกันเพื่อสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมนั้น มีหลักอยู่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1.การมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน ในสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้กำลังต้องการการพัฒนากำลังคนในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์มีฐานที่ต่ำมาก ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริง ๆ แล้วควรจะมีประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ของบัณฑิตที่จบการศึกษาทั้งหมด แต่การขยายฐานการศึกษาไม่มีทางที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยจึงจะต้องผนึกกำลังกัน แบ่งสายงาน แบ่งหน้าที่ ถึงจะโยงใยระบบการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรทางวิชาการมารับใช้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีขุมกำลังที่จะเป็นที่พึ่งพาของมวลมนุษยชาติ เป็นประโยชน์ทั้งแก่คนไทยและชาวโลกด้วย 2. มีความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน สถาบันแต่ละแห่งจะมีความสามารถพิเศษ มีจุดแข็งเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จึงต้องมีความเคารพเลื่อมใสในแง่วิชาการซึ่งกันและกันทั้งในระดับบุคคลและในระดับสถาบัน และ 3. ความเสริมซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งสำคัญมาก ด้วยความที่แต่ละแห่งมีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน เมื่อมาประสานความร่วมมือกัน จะทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถเอื้อประโยชน์ เสริมความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เรามีความเข้มแข็งมากขึ้น ถือเป็นการเสริมกันอย่างแท้จริง ในการร่วมกันทำประโยชน์แก่สังคม
ด้านอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทั้ง 3 สถาบัน ต่างก็มีการพัฒนา และปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่เหมือน ๆ กัน โดยได้มีการขยายฐานการศึกษาออกไปอย่างมากมาย เพื่อรับใช้สังคม ขยายความรู้สู่ชุมชน กระจายไปตามวิทยาเขตต่าง ๆ มากขึ้น กล่าวคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเชี่ยวชาญในด้านการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดลเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ สาธารณสุข ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะเชี่ยวชาญในเรื่องของการเมือง การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 3 สถาบันก็ได้มีการร่วมกันทำงานในโครงการต่าง ๆ มาบ้างแล้ว การร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ จะนำไปสู่การร่วมมือกันทางวิชาการ และในทุก ๆ ด้านอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างแท้จริง
ส่วนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีส่วนช่วยผลักดันในเรื่องกฎหมายเกษตรกับสิ่งแวดล้อม ที่จะสามารถช่วยให้การเกษตรเข้มแข็งขึ้น เกษตรกรได้เปรียบมากขึ้น เสียเปรียบน้อยลง ส่วนกับมหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาแล้ว 2 ปี ในเรื่องการแพทย์ที่วิทยาเขตสุพรรณบุรี โดยเน้นในเรื่องของปัญหาสุขภาพที่เกิดกับเกษตรกร เรื่องการป้องกัน สร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจะใช้กีฬาและโภชนาการมาเป็นแกนหลัก จากการลงนามความร่วมมือกันในครั้งนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับบุคลากรของทั้ง 3 สถาบัน และประเทศชาติต่อไป--จบ--
-นศ-
- ๒๓ พ.ย. บริษัท N15 Technology จำกัด ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดบรรยายเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
- ๒๓ พ.ย. ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ชวนสัมมนาออนไลน์ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ
- ๒๓ พ.ย. NIA ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดตัวเนื้อโคคุณภาพสูง "Lam Takhong Black Cow" ธุรกิจที่ 3 ภายใต้โครงการนิลมังกร 10X ดันแบรนด์เนื้อโลโคลสู่โกลบอล