กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
นายกร ทัพพะรังสี เปิดค่าย “คนใจเด็ด” รุ่นที่ ๒ ช่วยผู้ติดบุหรี่กว่า ๗๐ คน ที่อยากเลิกบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ระบุเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้บุคลากรในชาติมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยละเว้นจากการบุหรี่และสุรา เผยมีคนไทยกว่า ๑๐ ล้านคนติดบุหรี่ นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดค่าย “คนใจเด็ด” รุ่นที่ ๒ ที่อาคารศูนย์กีฬา กระทรวงสาธารณสุขว่า บุหรี่จัดเป็นยาเสพติดระดับพื้นฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นของยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่นๆ ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชากรทั่วโลก แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ แต่ก็ยังมีคนอีกว่า ๑๐ ล้านคนยังติดบุหรี่อยู่ โดยประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง ๒๕ - ๕๙ ปี เป็นกลุ่มที่สูบบุหรี่สูงกว่าวัยอื่นๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซื้อหาบุหรี่มาสูงถึงปีละ ๔๐,๙๐๐ ล้านบาท ที่สำคัญในอนาคตผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยมีแนวโน้มเป็นเยาวชนและสตรีมากขึ้น การจัดค่าย “คนใจเด็ด” จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ให้โอกาสผู้สูบบุหรี่ที่มีความต้องการจะเลิกสูบแต่ยังไม่สามารถเลิกได้ ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ สามารถปฏิบัติตัว เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ได้ถูกต้อง และเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จในที่สุด “เป็นความตั้งใจของกระทรวงสาธารณสุขมานานแล้ว ที่ผมวางนโยบายไว้ว่า อยากจะให้คุณภาพของประชาชน บุคลากรในชาติ มีคุณภาพดีขึ้น โดยละเว้นจากการบุหรี่ก็ดี สุราก็ดี หรือแม้แต่กาแฟก็พยายาม วันนี้ก็เป็นโครงการหนึ่ง รุ่นที่ ๒ ของคนใจเด็ด ที่ตั้งชื่อกันไว้ก็คือ ๓ วัน ๒ คืนจะมาอยู่ด้วยกัน โดยมีกิจกรรมที่จะทำให้จากนี้เป็นต้นไป เลิกกันเสียทีสำหรับการสูบบุหรี่ เพราะภัยอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า ถ้าไม่เลิกสูบบุหรี่อันตรายอะไรที่รออยู่ข้างหน้าบ้าง ก็จะมาแสดงให้เห็น มีวิทยากรที่เชื่อว่ามีประสบการณ์ทางด้านนี้ หรือแม้แต่คนที่ไร้กล่องเสียงเพราะสูบบุหรี่มาก ก็จะมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย” นายกร กล่าวและว่า ได้ให้นโยบายกับอธิบดีกรมการแพทย์แล้วว่า ไม่เพียงให้ผู้ที่สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่เท่านั้น แต่นโยบายส่วนที่ ๒ คือ ทำอย่างไรไม่ให้มีคนเริ่มสูบบุหรี่ใหม่ๆ ตรงนี้ต้องช่วยกัน ด้าน น.พ.ชาตรี บานชื่น รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับค่าย “คนใจเด็ด” รุ่นที่ ๒ ครั้งนี้ มีผู้สมัครเข้าค่ายจำนวน ๗๘ คน เป็นชาย ๗๑ คนและหญิง ๗ คน อายุต่ำสุด ๑๗ ปี สูงสุด ๖๔ ปี ระยะเวลาการสูบบุหรี่ตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไปจนถึง ๓๐ ปี และสูบบุหรี่ถึงวันละ ๓ ซอง กิจกรรมในค่ายจะเป็นการให้ความรู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ผสมผสานกับกิจกรรมนันทนาการ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดระหว่างการเลิกสูบบุหรี่ แบ่งตามฐานตามหลักการจัดค่ายลูกเสือเป็น ๔ ฐาน ได้แก่ ฐานทดสอบให้เห็นโทษของควันบุหรี่ที่มีต่อร่างกาย ฐานแสดงชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ฐานแสดงผลจากการสูบบุหรี่โดยผู้ป่วยที่ต้องตัดกล่องเสียง และฐานแสดงภาพการผ่าตัดผู้ป่วยที่ได้รับผลจากการสูบบุหรี่ โดยมีผู้ที่ผ่านการเข้าค่ายรุ่นแรก และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ ได้ปรับปรุงรูปแบบจากการจัดค่ายรุ่นที่ ๑ เพื่อให้เหมาะสมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานสาธารณสุขอื่นที่สนใจนำไปปรับใช้--จบ--
-สส-