กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--อย.
อย.เผยผลการตรวจสอบยาลักลอบส่งออกไปประเทศไต้หวัน ปรากฏว่าเป็น ยา และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ใช้สำหรับลดความอ้วน รวมทั้งยาที่เพิกถอนทะเบียนจาก อย.แล้ว นำมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวมาใช้ พร้อมเตือนอันตรายจากยาลดความอ้วน
ภญ.อังกาบ เวสโกสิทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงผลการดำเนินการหลังตรวจพบการลักลอบส่งยาออกไปประเทศไต้หวันของบริษัท ไทยเซิ้นอี้สตีล จำกัด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2543 ที่ผ่านมา พบว่าเป็นยาชุดลดความอ้วน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นยา วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 และประเภท 4 รวมกันอยู่เป็นชุด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นยา ได้แก่ เฟนฟลูรามีน บิสซาโคดิล ธัยรอยด์ฮอร์โมน ไฮโดรคลอโรไทฮาซายด์ และ ฟูโรซีไมด์ ส่วนวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ได้แก่ ฟนเทอร์มีน และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 ได้แก่ ไดอะซิแปม และอัลปราโซแลม การใช้ยาชุดในลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดอันตรายจากอาการอันไม่พึงประสงค์ของยา หรือการใช้ยาไม่ถูกต้องได้เพราะไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
นอกจากนี้การกระทำดังกล่าว ยังเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายว่าด้วยยา คือ ขายยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียน (เฟนฟลูรามีน) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000-20,000 บาท ขายหรือส่งออกยาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาติ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท ส่วนกรณีวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ประเภท 4 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
สำหรับการควบคุมกำกับและเฝ้าระวังการลักลอบผลิตและจำหน่ายยาและวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ นั้น อย.ได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยจัดให้มีระบบการตรวจสอบและรายงานปริมาณการใช้วัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 2 ตลอดจนเพิ่มเงื่อนไขให้ระบุชื่อผู้ป่วยที่ใช้วัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน ซึ่งจะทำให้ง่ายในการตรวจสอบยิ่งขึ้น
วิศิษฏ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านความปลอดภัยของยาและการใช้ยา กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับอันตรายของยาและวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ที่ใช้ในกลุ่มของยาลดความอ้วนที่พบนี้ว่า เฟนฟลูรามีน เป็นยาลดความอยากอาหาร ซึ่งเป็นยาที่ อย.เพิกถอนทะเบียนตำรับแล้ว เพราะมีผลทำให้เกิดภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ บิสซาโคดิลเป็นยาระบาย หลังจากรับประทานแล้วจะรู้สึกอยากถ่าย และทำให้อุจจาระค่อนข้างเหลว ส่วนธัยรอยด์ฮอร์โมน ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานและใช้พลังงานสะสมมากขึ้น จึงทำให้น้ำหนักลดลง แต่การใช้ยานี้จะทำให้เกิดอาการใจสั่น เหงื่อออกมาก ไฮโดรคลอโรไทอาซายด์ และ ฟูโรซีไมด์เป็นยาขับปัสสาวะ ปกติใช้กับผู้ป่ายที่มีความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่เป็นโรคไตและไม่สามารถขับปัสสาวะได้ตามปกติ ยานี้จะขับถ่ายน้ำออกจากร่างกาย ทำให้ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมากขึ้น จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว หากใช้นานจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำ คอแห้ง ส่วนวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ได้แก่ เฟนเทอร์มีน ใช้สำหรับลดความอยากอาหาร มีผลทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและรับประทานอาหารได้น้อยลง หากร่างกายเผาผลาญพลังงานไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเผาผลาญไขมันที่สะสมออกมาเป็นพลังงานทดแทน ส่งผลให้ความอ้วนลดลงเพราะไขมันถูกกำจัดออกไป เมื่อใช้ยาเหล่านี้นานจะทำให้ดื้อยาและก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ นอนไม่หลับ ใจสั่น หงุดหงิด เป็นต้น ไดอะซิแปม มีฤทธิ์ กล่อมประสาท ช่วยให้นอนหลับ อัลปราโซแลม ลดอาการวิตกกังวลและช่วยให้นอนหลับ
ภก.วิศิษฏ์ ประวีณวงศ์วุฒิ กล่าวในตอนท้ายว่า การลักลอบไม่ว่าจะส่งออกหรือนำเข้ายาหรือวัตถุออกฤทธิ์ฯ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้บริโภคไม่ควรซื้อยาลดความอ้วนมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร แม้ว่าระยะสั้นจะทำให้ดูเหมือนได้ผลดี ผอมลง แต่ในระยะยาวจะทำให้ผอมแห้ง ขาดอาหารและเกิดอาการทางประสาทได้--จบ--
-สส-