ILCT: ชื่อโดเมนกับปัญหาข้อกฎหมาย(3)

พฤหัส ๐๖ กันยายน ๒๐๐๑ ๐๙:๒๓
กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
ครั้งที่แล้วผมค้างท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาความที่จะใช้ในการดำเนินคดีกับ Cybersquatter ก่อนที่จะคุยถึงปัญหาดังกล่าว ผมขอกล่าวถึงกฎหมายอีกหนึ่งฉบับคือ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าที่จดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและได้รับทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็มีสิทธิที่จะดำเนินคดีกับ Cybersquatter ได้ ในความผิดฐานปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าได้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
3. พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กฎหมายฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลหรือผู้ประกอบการโดยทั่วไปที่นำชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าของตนเอง ไปจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหากเครื่องหมายการค้าของท่านได้รับการจดทะเบียน ท่านก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้
มาตรา 108 บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 109 บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น หากมีผู้อื่นนำเอาเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการของท่านไปใช้แสวงหากำไร โดยใช้กับสินค้าและบริการ หรือใช้เป็นชื่อเว็บไซท์เพื่อจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ ท่านก็อาจฟ้องร้องดำเนินคดีฐานปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าได้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีกับ Cybersquatter ตามกฎหมายฉบับนี้ อาจเกิดปัญหา หาก Cybersquatter ไม่ได้ใช้ชื่อโดเมนกับสินค้าและบริการ แต่ใช้ชื่อโดเมนเป็นเพียงชื่อที่อยู่ที่ใช้ติดต่อบนอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่งสถานภาพของชื่อโดเมนจะเป็นเหมือนหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อระหว่างกันเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องหมายการค้า ดังนั้นการนำกฎหมายฉบับนี้มาปรับใช้อาจเกิดปัญหา เช่นกรณีที่นาย Dennis Toeppen นำเอาชื่อคำว่า "americanstandard" ไปจดเป็นชื่อโดเมนคำว่า "americanstandard.com" โดยไม่ได้ใช้จำหน่ายสินค้าและบริการ และในเว็บไซท์มีเพียงแผนที่ของมลรัฐ Urbanna Champagne เท่านั้น
ในส่วนของการดำเนินคดีกับ Cybersquatter ในประเทศไทยนั้น ผมแนะนำว่า เจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจใช้วิธีการระงับข้อพิพาทในเรื่องชื่อโดเมนซึ่งมีอยู่ 2 วิธีดังนี้
(1) การดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญา ฐานละเมิดชื่อทางการค้าหรือปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า โดยฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า โดยศาลทรัพย์สินฯ จะมีกระบวนการพิจารณาคดีที่รวดเร็วกว่าศาลโดยทั่วไป และที่สำคัญมีข้อกำหนดที่อนุญาตให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อาทิเช่น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) print out จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ได้ ซึ่งแตกต่างจากศาลแพ่งและศาลอาญาซึ่งไม่มีข้อกฎหมายให้รับฟังพยานหลักฐานได้ ดังนั้น วิธีนี้อาจช่วยบรรเทาความเสียหายได้
ปัจจุบันมีศาลเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่รับฟังพยานทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย และศาลภาษีอากร
(2) การทำอนุญาโตตุลาการทางอินเตอร์เน็ต (Online Arbitration) ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียนชื่อโดเมนคือ หน่วยงานที่เรียกว่า ICANN (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) ซึ่งมีนโยบายให้สัมปทานการจดทะเบียนชื่อโดเมนโดยเสรี โดยผู้ที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมน (Accredited Domain Name Registrar) ที่ได้รับอนุญาตจาก ICANN ต้องใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทในเรื่องชื่อโดเมนของ ICANN หรือ UDRP (The Uniform Domain Name Dispute Resolution Policy) ในการระงับข้อพิพาทเกี่ยวข้องชื่อโดเมนของผู้จดทะเบียนชื่อโดเมนกับบุคคลภายนอกผู้โต้แย้งสิทธิ ซึ่ง ICANN ได้กำหนดองค์กรอิสระที่ช่วยดำเนินการเป็นศูนย์ระงับข้อพิพาทอยู่ 4 หน่วยงานคือ
1. องค์กร WIPO (The World Intellectual Property Organization) กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
2. องค์กร NAF (the National Arbitration Forum) ประเทศสหรัฐอเมริกา
3. องค์กร eRes (The Disputes.org/eResolutions Consortiumn (eRes)) ประเทศแคนาดา
4. องค์กร CPR Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม องค์กรที่เป็นที่นิยมในการระงับข้อพิพาทชื่อโดเมนมากที่สุดคือ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ดังนั้น เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่เสื่อมเสียสิทธิของตนอาจใช้วิธียื่นคำร้องผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ตให้ WIPO เป็นผู้พิจารณาไกล่เกลี่ยในเรื่องข้อพิพาทในเรื่องชื่อโดเมนได้ ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ โดยผู้ที่เสียหายจากการที่บุคคลอื่นนำชื่อเครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้าของตน ต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการระงับข้อพิพาท (Arbitration Administrative Panel) ทางอินเตอร์เน็ต โดยผู้ที่ยื่นเสนอข้อพิพาทสามารถเลือกได้ว่า ต้องการอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดแบบ 1 คนหรือ 3 คน สำหรับค่าธรรมเนียมตอนยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ 1 คนคือ 1,500 เหรียญสหรัฐ ในกรณี 3 คน ค่าธรรมเนียมจะเท่ากับ 3,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งหมดต่อชื่อโดเมนที่พิพาทเพียง 1 ชื่อโดเมนเท่านั้น โดยหลังจากได้รับเรื่องและจัดตั้งอนุญาโตตุลาการแล้ว WIPO ก็จะส่งคำร้องให้เจ้าของชื่อโดเมนที่ถูกกล่าวหามาชี้แจงสิทธิในการใช้ชื่อโดเมนดังกล่าว กระบวนการระงับข้อพิพาททั้งหมดจะดำเนินการเสร็จสิ้น โดยใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือน สำหรับท่านที่สนใจท่านอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซท์ www.wipo.org ผลการตัดสินของ WIPO ในคดีดังๆ ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ชื่อโดเมน celinedion.com madonna.com และ juliaroberts.com เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินคดีกับ Cybersquatter แต่ละรายนั้น หรือการยื่นอนุญาโตตุลาการผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ต ท่านผู้อ่านควรปรึกษาทนายความผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้กระบวนการดำเนินคดีรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่ายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO