สพช. แนะประหยัดพลังงานเริ่มที่บ้าน เตรียมโชว์แบบบ้านหาร 2 และหนัง "นี่สิบ้านหาร 2"

ศุกร์ ๒๖ พฤษภาคม ๒๐๐๐ ๑๐:๐๒
กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
สพช. ย้ำประหยัดพลังงานต้องเริ่มที่บ้าน ตั้งแต่การปลูกต้นไม้ให้ความร่มเย็น ปรับปรุงเล็กน้อย ปรับเปลี่ยนให้เป็นบ้านที่ใช้พลังงานน้อย หรือสร้างบ้านแบบหาร 2 ประหยัดพลังงาน เตรียมออกหนัง "นี่สิบ้านหาร 2" และโชว์แบบบ้านให้เลือกหลากหลายแบบ
ดร.พงษ์พิสิฏฐ์ วิเศษกุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เปิดเผยว่า โครงการรวมพลังหาร 2 กำลังจัดทำแผนรณรงค์เกี่ยวกับบ้านประหยัดพลังงาน หรือ "นี่สิบ้านหาร 2" เป็นเรื่องหลักของการรณรงค์ในปีนี้ ซึ่งจะรณรงค์เผยแพร่ความรู้ตลอดปี ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อแนะนำวิธีในการจัดบ้าน ปรับปรุงบ้าน ให้บ้านของท่านเป็นบ้านหาร 2 มีตั้งแต่วิธีการง่ายๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย จนถึงการปรับปรุงบ้านให้เย็นสบายและประหยัดพลังงานด้วยวิธีการต่างๆ หรือแม้แต่ใครที่คิดจะปลูกสร้างบ้านใหม่ โครงการรวมพลังหาร 2 ก็มีแบบบ้านหลากหลายแบบให้เลือกพร้อมหนังสือคู่มือการสร้างบ้านให้ประหยัดพลังงาน
"ในอดีต คนไทยสร้างบ้านโดยคำนึงถึงความสวยงามและความสะดวกสบายของการใช้งาน ซึ่งการออกแบบบ้านจะใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหลัก เช่น ตั้งบ้านอย่างไรให้ลมพัดผ่านบ้านตลอดทั้งหลัง ต่อมาประเทศไทยได้เติบโตตามแบบตะวันตก จึงหยิบยืมทุกอย่างมาใช้ ไม่เว้นแม้แต่การสร้างบ้านเรือน โดยลืมคำนึงถึงสถานที่และสภาพภูมิประเทศของบ้านเราว่าเป็นอย่างไร แบบบ้านของต่างประเทศที่อยู่ในเขตอากาศหนาวไม่เหมาะสมกับประเทศเรา อาทิ หลังคาของบ้านเมืองนอกจะไม่มีชายคา เนื่องจากต้องการแดดมากๆ เพื่อเก็บความร้อนไว้ภายในบ้านเพื่อให้บ้านอบอุ่น ส่วนประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ฝนตกบ่อยแดดก็ร้อน ชายคาของเรายิ่งต้องยื่นออกมามากเพื่อกันแดดกันฝน ปัจจุบันเราสร้างบ้านเอาสวยงามไว้ก่อน จะอยู่สบายหรือไม่ค่อยแก้ไขทีหลัง โดยการซื้อแอร์มาเปิด ใช้พัดลมมาเป่า ดังนั้นเมื่อใช้วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ก็ทำให้การใช้พลังงานในบ้านมากขึ้น" ดร.พงษ์พิสิฏฐ์ กล่าว
ดร.พงษ์พิสิฏฐ์ กล่าวอีกว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้สนับสนุนการวิจัยบ้าน 2 แบบ คือ 1. แบบบ้านประหยัดพลังงานโดยอาศัยเครื่องปรับอากาศ (Active Building) เหมาะสำหรับบ้านในเมือง เป็นแบบที่ให้ความสะดวกสบายสูงสุด โดยลดภาระในการทำความเย็นพร้อมกับควบคุมความชื้นให้อยู่ในระดับพอเหมาะ เป็นบ้านระบบปิดโดยใช้เครื่องปรับอากาศน้อยกว่าบ้านขนาดเดียวกัน ซึ่งออกแบบโดยสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 2. แบบเปิดระบบพึ่งพาธรรมชาติ (Passive Building) เหมาะกับบ้านชานเมืองที่มีพื้นที่มาก มีหลักการสำคัญคือการควบคุมสภาวะภายในบ้านด้วยระบบธรรมชาติเป็นหลัก วิจัยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของการสร้างบ้านให้ถูกหลักสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงทิศทางแดดและลมทำให้บ้านเย็นสบาย คำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีที่หลีกเลี่ยงการสิ้นเปลืองพลังงาน โดยผสมผสานกับการพึ่งพาธรรมชาติให้มากที่สุด โดยการสร้างสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม เพื่อให้อุณภูมิอากาศบริเวณรอบอาคารลดลง มีทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน แบบที่ 1 บ้านชั้นเดียว 1 ห้องนอน และแบบที่ 2 บ้าน 2 ชั้น 2 ห้องนอน เนื้อที่ 100 ตารางวา ราคาก่อสร้าง 800,000-1,200,000 บาท ส่วนแบบที่ 3 และ 4 เป็นแบบบ้าน 2 ชั้น 3 ห้องนอน เนื้อที่ 200 ตารางวา ค่าก่อสร้าง 1,200,000-1,800,000 บาท ซึ่งได้เปิดบริการให้ดูโมเดลบ้านตัวอย่างที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 ส่วนแบบก่อสร้างจะได้จัดพิมพ์และเผยแพร่ได้อีก 2 เดือนข้างหน้า
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 6121555 ต่อ 201-5 โทรสาร 6121368 121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th-- จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ