กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--สสวท.
นางนันทิยา บุญเคลือบ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ชี้แจงกับคณะครูโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามผลและเพิ่มพูนทักษะการสอนเฉพาะวิชาคณิตศสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ เมื่อล่าสุดที่ผ่านมาว่า ครู สควค.เป็นครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างดี ในช่วง 2 - 3 ปี ที่เพิ่งเริ่มต้นวิชาชีพครูนี้จึงถูกคาดหวังจากสังคมสูงเพราะมีศักยภาพและศรัทธาวิชาชีพครูมาก ปัญหาหลักของการทำงานที่โรงเรียนในท้องถิ่นต่างๆ แม้จะเผชิญสภาพต้องรับผิดชอบการสอนไม่ตรงกับสาขาวิชาวิทย์-คณิตที่เรียนจบมา วิธีแก้ก็คือให้ครู สควค.ใช้ศักยภาพในตัวเองแก้ปัญหาโดยบูรณาการทุกวิชาที่เคยเรียนมาเพื่อใช้สอนให้เด็กได้รับความรู้ในวิชานั้นๆ ได้สำเร็จ
"อย่ากลัวสอนไม่ตรงกับที่จบมา เพราะวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการที่ทำให้คิดเป็น รู้จักแสวงหาความรู้ ทดลอง แล้วนำความคิดไปใช้ให้ถูกต้อง กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงนำไปประยุกต์ได้กับทุกวิชา"
สำหรับปัญหาการได้รับมอบหมายงานอื่นๆ ซึ่งไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบมาเช่น งานธุรการ, การเงิน ฯลฯ ต่างๆ นั้น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท.ชี้ว่าควรภูมิใจเพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของวิชาชีพครู และเป็นเสน่ห์ของครูวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำงาน ได้หลากหลายเมื่อได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา แต่ขณะเดียวกันครูสควค.ต้องทำงานด้านวิจัย และการจัดการเรียนการสอนให้เข้มข้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ครูสควค. เป็นครูรุ่นใหม่ต้องปรับตัวมากกว่าทั่วไป 2 เท่า ให้สมกับเป็น "ครูมืออาชีพ" และควรพัฒนาตนเองโดยเรียนต่อปริญญาโทเพิ่มพูนความรู้
เป้าหมายการประชุมครั้งนี้มุ่งให้ครูที่สำเร็จจากโครงการสควค. ซึ่งออกปฏิบัติงานในจังหวัดที่ห่างไกล ขาดแคลนครู-อาจารย์ ได้เสริมความรู้พิเศษในสาระการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพิ่มทักษะการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น--จบ--
-นห-