สำนักรักษาความสะอาดเสนอโครงการธนาคารขยะ แก้ปัญหาขยะในกรุง

พุธ ๑๙ ธันวาคม ๒๐๐๑ ๑๑:๐๑
กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.44 เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร นายพิชัย ไชยพจน์พานิช ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กทม. เป็นประธาน แถลงข่าว “จันทร์ละหน คนกับข่าว” เรื่องภารกิจ และโครงการที่สำคัญของสำนักรักษาความสะอาด โดยมีนายวัฒนา ล้วนรัตน์ นายธีระชัย เธียรสรรชัย รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด ร่วมแถลงข่าว
โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย
ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวว่า กรุงเทพมหานครใช้รถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 5 ตัน สำหรับเก็บขนมูลฝอย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 1,205 คัน ใช้งานอยู่ใน 50 สำนักงานเขต ซึ่งรถฯ ดังกล่าวมีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปี ขณะนี้มีรถที่มีอายุใช้งานเกินกว่า 7 ปี (นับถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 2543) จำนวน 323 คัน รถเหล่านี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเสียบ่อย และไม่มีรถสำรอง ซึ่งมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะตามกำหนดนัด ทั้งนี้อาจรวมไปถึงความไม่ครอบคลุมในการวางแผนการเส้นทางรถเก็บขนมูลฝอย
กรุงเทพมหานครจึงมีความจำเป็นต้องจัดหารถใหม่มาทดแทน แต่การจัดหารถใหม่ในคราวเดียวจำนวน 323 คัน ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และมีภาระผูกพันในการดูแลบำรุงรักษา จัดรถสำรอง ดังนั้นแนวคิดเช่ารถแทนการจัดซื้อเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครได้นำมาพิจารณา ทั้งนี้เพื่อตัดภาระในการบำรุงรักษาและหารถสำรอง โดยให้เอกชนรับภาระไปทั้งหมด โดยกำหนดว่าถ้ากรุงเทพมหานครจะใช้รถ ผู้รับจ้างต้องจัดหาให้ตรงจำนวนที่ต้องการใช้ และมีจำนวนรถที่แน่นอนในแต่ละวันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะมูลฝอยให้เป็นไปตามเป้าหมาย และเวลาที่กำหนดอย่างชัดเจน ส่งผลให้การวางแผน วางเส้นทางในการเดินรถเก็บขนมูลฝอยเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถเพิ่มเที่ยววิ่งได้ อีกทั้งเป็นการลดอัตรากำลังในการดูแลรักษารถฯ ลง เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้เวลาไปสำรวจ วางแผนเส้นทางรถเก็บขนมูลฝอย ให้เส้นทางสั้นที่สุด เพื่อที่จะสามารถเพิ่มเที่ยววิ่งได้อีกอย่างน้อยวันละ 2 เที่ยว ซึ่งมีผลทำให้จำนวนรถที่จะใช้มาเก็บขยะลดลง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้รถเพียง 262 คัน จากเดิม 323 คัน
สำนักรักษาความสะอาดจึงได้จัดทำโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย จำนวน 262 คัน ใช้งานในพื้นที่ 18 เขต แยกเป็นฝั่ง ธนบุรี 8 เขต และฝั่งกรุงเทพ 10 เขต โดยกำหนดให้จอดรถที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม และสถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช คาดว่าจะประกวดราคาได้ประมาณเดือน ก.พ.45 ใช้เวลาส่งมอบรถและก่อสร้างสถานีจอดรถ ประมาณ 6 เดือน เริ่มทำงานได้ประมาณเดือน ต.ค.45
สร้างสุขาใหม่ไฮเทคบริการคนกรุง
ในส่วนเรื่องของงานบริการสุขาสาธารณะ สำนักรักษาความสะอาดได้จัดให้มีสุขาสาธารณะบริการสำหรับชาย — หญิง และคนพิการ โดยจัดสร้างเป็นสุขาสแตนเลส ที่ถูกสุขลักษณะ จำนวน 39 แห่ง โดยเปิดให้ใช้บริการเวลา 06.00-22.00 น. ของทุกวัน ขณะนี้ได้เปิดประกวดราคาให้เอกชนเข้ามาดูแลรักษาความสะอาด และได้บริษัทผู้รับจ้างแล้ว ซึ่งประชาชนสามารถใช้บริการได้ฟรีถึง ก.พ.45 หลังจากนั้นจะเก็บค่าบริการจำนวนครั้งละไม่เกิน 2 บาท เพื่อใช้เป็นค่าดูแลรักษาให้คนกรุงเทพฯได้มีสุขาสาธารณะที่สะอาดต่อไป อีกทั้งยังมีโครงการสุขาสาธารณะระบบไฮเทค ซึ่งเป็นนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่จะให้มีการติดตั้งสุขาสาธารณะจำนวน 72 แห่ง เพื่อบริการประชาชนและนักท่องเที่ยว และคนพิการที่สัญจรผ่านไปมา โดยคิดค่าบริการครั้งละไม่เกิน 2 บาท
ลักษณะของสุขาระบบไฮเทคนั้น เป็นระบบออโตเมติก ใช้ได้ทั้งชายหญิงและคนพิการ มีระบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ สามารถล้างความสะอาดภายในห้องสุขาด้วยระบบอัตโนมัติเช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยจะเปิดให้มีการประมูล โดยบริษัทเอกชนในเร็ว ๆ นี้ ด้านการกำจัดสิ่งปฏิกูล ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลจำนวน 2 แห่ง คือ โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลอ่อนนุช โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลหนองแขม ทั้ง 2 แห่งสามารถกำจัดสิ่งปฏิกูลได้วันละ 600 ลบ.ม. โดยโรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลทั้ง 2 แห่ง สามารถผลิตตะกอนสิ่งปฏิกูลได้ประมาณวันละ 10-15 ตัน/วัน ซึ่งสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ จะนำไปตากแห้ง และแจกจ่ายให้กับทางสำนักงานเขต โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และสำนักงานสวนสาธารณะของแต่ละเขต เพื่อนำไปผสมเป็นปุ๋ยและใช้บำรุงต้นไม้ต่อไป ในการนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของกากตะกอนสิ่งปฏิกูลกับเศษกิ่งไม้ ที่ตัดทิ้งในแต่ละวันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัด สิ่งปฏิกูลเหล่านี้สามารถนำมาผสมกันและผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายที่จะสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยจากตะกอนสิ่งปฏิกูล ร่วมกับเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ณ โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลอ่อนนุชและหนองแขม ที่มีกำลังผลิตปุ๋ยได้แห่งละ 30 ตัน/วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างประกาศประกวดราคา
สร้างเครือข่ายธุรกิจธนาคารขยะทั่วกรุง
ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวอีกว่า สำนักรักษาความสะอาดได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการลดปริมาณขยะ โดยพยายามรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานคร ด้วยการลดปริมาณและคัดแยกมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2541 และในปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดที่จะสร้างเครือข่ายธุรกิจขยะขึ้นโดยจัด ตั้งศูนย์รับซื้อขายขยะขึ้นในชุมชน ซึ่งศูนย์รับซื้อขายขยะดังกล่าวจะดำเนินการโดยคณะกรรมการที่สรรหามาจากประชาชนในชุมชนนั้น ๆ ในระยะเริ่มแรกกรุงเทพมหานครจะเสนอของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 54,000 ล้านบาทของ รัฐบาล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ หลังจากนั้นศูนย์รับซื้อขายขยะจะต้องดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการด้วยรายได้ของตัวเอง ในการนี้กรุงเทพมหานครกำหนดจัดตั้งศูนย์รับซื้อขายขยะ จำนวน 10 ศูนย์ ในแต่ละศูนย์จะมีศูนย์รับซื้อขายขยะย่อย ในเครือข่ายของตนเอง 30 ศูนย์ย่อย ซึ่งจะทำให้มีธนาคารขยะอยู่ในพื้นที่กทม.ทั้งหมด 300 ธนาคาร ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจการรับซื้อขายขยะเป็นไปอย่างครบวงจร โดยมีศูนย์รวบรวมขยะไปขายให้กับบริษัทแปรรูปขยะโดยตรงไม่ต้องผ่านซาเล้ง และพ่อค้าคนกลางอีกหลายต่อ ทำให้ขยะรีไซเคิลมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้การจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจขยะดังกล่าวยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยประสานงานและติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ซึ่งเครือข่ายธุรกิจขยะนี้จะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดแยกมูลฝอยแล้วนำมาขายเป็นรายได้ของตนเอง นอกจากนี้จะยังเป็นการช่วยลดปริมาณมูลฝอยที่กรุงเทพมหานครต้องจัดการ ลดงบประมาณของกรุงเทพมหานครที่ต้องใช้ในการจัดการมูลฝอย รวมทั้งยังเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองอีกด้วย ขณะนี้โครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจขยะอยู่ระหว่างการรออนุมัติ งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล โดยศูนย์ย่อยจะใช้งบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ละ 2 หมื่นบาท ส่วนศูนย์ใหญ่ต้องการเงิน หมุนเวียนศูนย์ละ 2-3 แสนบาท และขอสนับสนุนงบประมาณในการจ้างพนักงานประจำศูนย์ในปีแรก เมื่อศูนย์มีรายได้ในปีต่อ ๆ ไป ธนาคารขยะแต่ละแห่งก็จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง
กำหนดหลักเกณฑ์การจัดการมูลฝอย ให้ประชาชนทิ้งขยะถูกที่ ถูกเวลา
สำนักรักษาความสะอาดได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของอาคาร สถานที่ และสถานบริการสาธารณสุข พ.ศ….. โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะกำหนดข้อบังคับในการทิ้งขยะของประชาชน ทั้งเรื่องประเภทขยะ เวลาทิ้ง จุดทิ้ง และที่รองรับขยะ ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปี 2545 สำหรับสาระสำคัญของข้อกฎหมายนี้ได้แก่ 1. คำจำกัดความของมูลฝอย สิ่งปฏิกูล อาคาร และสถานที่ ซึ่งครอบคลุมถึงสถานบริการสาธารณสุข 2. ให้อำนาจในการกำหนด บริเวณพื้นที่ใด อาคารหรือสถานที่ประเภทใด ต้องแยกมูลฝอยก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมาทำการเก็บขนฯ 3. กำหนดประเภทของมูลฝอยที่จะแยกทิ้งเป็นมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยที่ย่อยสลายได้ หรือมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ มูลฝอยอันตราย และมูลฝอยติดเชื้อจากสถานบริการการสาธารณสุข 4. กำหนดวันหรือเวลาที่จะนำมูลฝอยจากอาคารหรือสถานที่ไปวางหรือใส่ไว้ ณ สถานที่หรือในภาชนะที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดหรือจัดไว้ให้ 5. เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ ต้องใส่มูลฝอยในถุงพลาสติกหรือถุงที่กรุงเทพมหานครกำหนดและนำไปใส่ในที่รองรับมูลฝอย หรือจุดที่กรุงเทพมหานครหรือเอกชนผู้ที่รับอนุญาตกำหนด 6. กรณีที่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร สถานพยาบาล อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารที่มีมูลฝอยตั้งแต่ 1 ลบ.ม. ขึ้นไป/วัน จะต้องจัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยที่มีขนาดและจำนวนเพียงพอที่จะรองรับมูลฝอยจากอาคารหรือสถานที่นั้น ได้ในปริมาณ 3 วัน โดยต้องเป็นที่พักมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ 7. กรณีมูลฝอยติดเชื้อจะต้องมีการออกข้อกำหนดบังคับให้มีการแยกทิ้งลงในภาชนะรองรับมูลฝอยติดเชื้อ และเก็บรวบรวมยังที่พักรองรับมูลฝอยโดยแยกออกจากมูลฝอยประเภทอื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค 8. กำหนดให้มีการจัดการสิ่งปฏิกูลโดยต้องมีส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพียงพอแก่การใช้งาน เพื่อรองรับการเก็บขนฯจากเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครหรือเอกชนผู้ได้รับอนุญาต และห้ามมิให้มีการปล่อยหรือระบายอุจจาระหรือปัสสาวะลงท่อระบายน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ
นำ GIS ช่วยจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะ
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีภารกิจหน้าที่ในการเก็บขนมูลฝอยประมาณ 9,200 ตัน/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากภารกิจหน้าที่ดังกล่าวทำให้กรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บขนมูลฝอยระหว่างปี 2538-2542 เฉลี่ยปีละประมาณ 1,300 ล้านบาท แต่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ได้เป็นเงินเฉลี่ยปีละประมาณ 60 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 5 % ของค่าใช้จ่ายในการเก็บขนมูลฝอย และจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ได้ประมาณ 20 % ของจำนวนหลังคาเรือนในกทม. ซึ่งจากการขาดความสมดุลในด้านรายรับและรายจ่ายในส่วนนี้ทำให้กรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายโดยใช้เงินรายได้ส่วนอื่นมาชดเชยเฉลี่ยปีละ ประมาณ 1,240 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอย โดยการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic information System: GIS) มาใช้เป็นเครื่องมือประกอบการจัดทำแผนที่บ้านเรือนและสถานประกอบการในพื้นที่ของแต่ละสำนักงานเขต เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยขณะนี้ทุกสำนักงานเขตได้ดำเนินการจัดทำแผนที่บ้าน สถานประกอบการที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมฯ รวมทั้งเส้นทางวิ่ง (Route) ของรถเก็บขนมูลฝอยเสร็จแล้วทั้ง 50 เขต โดยรถแต่ละคันจะมีแผนที่และบัญชีบ้านที่ต้องไปจัดเก็บประจำรถ ภายหลังเริ่มโครงการในปีงบประมาณที่ผ่านมา (1 ต.ค. - 30 ก.ย.44) สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว คือ จัดเก็บได้ 106 ล้าน จากที่เคยเก็บได้ 62 ล้าน ในปี 43 สำหรับในปีงบประมาณ 2545 นี้ กทม.มีแผนจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ให้ครอบคลุม 80 % ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะทำให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้สูงถึง 200 ล้านบาท โดยไม่เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ