ปตท.แถลงผลประกอบการ ปี 2543

จันทร์ ๑๒ มีนาคม ๒๐๐๑ ๐๙:๓๓
กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ปตท.
นายวิเศษ จูภิบาล ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) แถลงผลประกอบการของ ปตท. ในปี 2543 ที่ผ่านมาว่า โดยทั่วไปการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม มีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นว่าในปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่สองของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การใช้ปิโตรเลียมของประเทศลดลงถึง 6.4% (น้ำมันลดลงถึง 10% แต่การใช้ก๊าซธรรมชาติ ขยายตัว 5%) สำหรับปี 2543 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวคือมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)อยู่ที่ประมาณ 4.5% การใช้พลังงานปิโตรเลียมปรับตัวกระเตื้องขึ้น 1% (การใช้น้ำมันลดลง 4.5% แต่ก๊าซธรรมชาติยังคงเพิ่มขึ้น14.7%) ขณะเดียวกันค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีได้อ่อนตัวลงมาจาก 37 มาอยู่ที่ 40.2 ฿/US$ ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันก็ปรับสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำมันดิบดูไบซึ่งไทยนำเข้ามากที่สุดมีราคาเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 54% ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในตลาดโลกสูงขึ้นด้วย ซึ่งสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการดำเนินงานของ ปตท.ในภาพรวมทั้งสิ้น
การดำเนินงานของ ปตท. ซึ่งประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจอินเตอร์เนชั่นแนล และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ นั้น ในปีที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และยังเป็นหน่วยงานหลักในการนำเงินส่งรัฐเพื่อช่วยพัฒนาประเทศด้วย แม้ว่าในส่วนของธุรกิจน้ำมันแทบจะไม่มีกำไร เนื่องจากการใช้นโยบายชะลอราคาขายปลีกในประเทศเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ในธุรกิจอินเตอร์ สามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ที่ราคาตลาดโลกสูงขึ้นนำรายได้เข้าประเทศ ส่วนธุรกิจก๊าซฯ ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศจากการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้าเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซฯเพื่อทดแทนน้ำมันที่มีราคาแพงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดภาระการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาแพงได้อีกด้วย ทั้งนี้ผลงานหลักๆของแต่ละธุรกิจมีดังนี้
ผลการดำเนินงานที่สำคัญของ ธุรกิจน้ำมัน ปี 2543 ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งติดต่อมาเป็นปีที่ 8 คือ 28.1% เพิ่มขึ้น 0.6% โดยมียอดจำหน่าย(ไม่รวมน้ำมันเตากฟผ.) ประมาณ 9,200 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 1.4% และจากการใช้นโยบายชะลอราคาขายปลีก เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ย 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ลดลงเหลือ 0.71บาท/ลิตร ลดลงจากปีก่อน 10% ซึ่งค่าการตลาดนี้ เป็นส่วนต่างของราคาขายกับต้นทุนน้ำมัน ไม่ใช่กำไรสุทธิ ที่ยังไม่ได้หักค่าดำเนินงานต่างๆทั้งในส่วนของปตท.และสถานีบริการ เช่น ค่าขนส่ง ต้นทุนการเก็บสำรอง ค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนสถานีบริการ และอุปกรณ์ต่างๆ และค่าการตลาดจำนวน 0.71 บาท/ลิตรนี้ ปตท.จะต้องจัดสรรให้สถานีบริการน้ำมันประมาณ 0.50 บาท/ลิตร ทั้งนี้จะเห็นว่าค่าการตลาดเฉลี่ยดังกล่าวไม่คุ้มกับค่าดำเนินการต่างๆ
ส่วนธุรกิจอินเตอร์ฯ ปีที่ผ่านมา สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมัน และปิโตรเคมี ที่เป็นส่วนเกินไปจำหน่ายยังประเทศในภูมิภาคเอเซีย และทำการค้าน้ำมันระหว่างประเทศเป็นมูลค่าถึงกว่า 44,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71% ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อรายได้ และกำไรของ ปตท.แล้ว ยังช่วยให้ดุลการค้าของประเทศดีขึ้นด้วยเพราะเป็นการนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ
สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มียอดจำหน่ายก๊าซฯประมาณวันละ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือเทียบเท่าน้ำมันดิบประมาณวันละ 56 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 14.7% โดยส่วนใหญ่คือประมาณ 80% เป็นการนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแทนน้ำมันเตา ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นมูลค่า 16,500 ล้านบาทต่อปี โดยในปีที่ผ่านมาราคาก๊าซฯเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 24% (รวมทุกแหล่ง) ส่วนน้ำมันเตาราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 54% อย่างไรก็ดีราคาก๊าซฯหรือน้ำมันเตาที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มตามต้นทุนที่แท้จริง แต่ในส่วนลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ปตท.ได้ใช้นโยบายตรึงราคาก๊าซฯตลอดปี ต่อเนื่องมาจากปลายปี 2542 โดยยอมรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วน นอกจากนี้ในช่วงปลายปี ปตท.ยังได้เริ่มโครงการแท็กซี่อาสาสมัครใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV จำนวน 1,100 คัน เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในรถยนต์ ซึ่งหากมีการใช้อย่างแพร่หลายเหมือนในต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงทั้งของส่วนบุคคล และของชาติ รวมถึงลดมลภาวะในอากาศได้อย่างมหาศาล
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจก๊าซฯ ยังดำเนินธุรกิจโดยเน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก โดยได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเพื่อให้ลูกค้าได้รับก๊าซฯ ที่มีคุณภาพเดียวกัน ส่วนการรับภาระ Take-or-Pay ก๊าซฯ จากสหภาพพม่านั้น ปตท.ได้ลงนามสัญญาซื้อ-ขายก๊าซฯ กับ กฟผ. เพื่อส่งก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าราชบุรี และมีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาภาระ Take-or-Pay เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งธุรกิจก๊าซฯ ได้เร่งรัดการก่อสร้างระบบท่อราชบุรี-วังน้อยให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2543 และสามารถส่งก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าวังน้อยได้ประมาณวันละ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุต เมื่อรวมกับก๊าซฯที่ส่งให้โรงไฟฟ้าราชบุรีแล้ว ทำให้สามารถรับก๊าซฯ จากสหภาพพม่าได้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่ใกล้เคียงกับปริมาณตามสัญญา ส่วนธุรกิจแยกก๊าซฯ นั้น ได้เดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพ คือ โรงแยกก๊าซฯ ทั้ง 3 แห่งที่ระยองสามารถเดินเครื่องได้ประมาณร้อยละ 98 ของกำลังการผลิต ส่วนโรงแยกก๊าซฯ ขนอมนั้นสามารถเดินเครื่องได้เพียงร้อยละ 72 ของกำลังการผลิต (เกิดจากโรงไฟฟ้าที่ขนอมไม่สามารถรับก๊าซฯ ได้มากกว่าปริมาณที่ส่งให้ในขณะนี้) โดยโรงแยกก๊าซฯ ทั้ง 4 แห่งนี้สามารถผลิตก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ได้ทั้งปีประมาณ 1.25 ล้านตัน เพื่อใช้ภายในประเทศพร้อมทั้งส่งออก และบางส่วนส่งเป็นวัตถุดิบให้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นายวิเศษ จูภิบาล ยังเน้นถึง องค์ประกอบสำคัญอีก 2 ประการที่มีผลอย่างมากต่อผลประกอบการของ ปตท คือ การบริหารองค์กร และการบริหารการเงิน ในประเด็นการบริหารองค์กรนั้น ปตท. ได้นำนโยบาย”เพิ่มคุณภาพทั่วทั้งองค์กร”(TQM) มาใช้ ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดค่าใช้จ่ายต่างๆได้อย่างมาก อาทิ โครงการลด oil loss ของคลังน้ำมัน การควบคุมระดับการสำรองผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม ฯลฯทำให้ลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจน้ำมันได้ 570 ล้านบาท และโครงการประหยัดในธุรกิจก๊าซฯทั้งระบบ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 470 ล้านบาท ส่วนการบริหารการเงิน ปตท.ใช้วิธีปรับโครงสร้างเงินกู้ด้วยการ Refinance และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน(FX)เพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการเข้าเร่งรัดเจรจาต่อรองเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทในเครือ ซึ่งสามารถลดรายจ่ายจากภาระดอกเบี้ย และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ได้เกือบ 3,000 ล้านบาทผู้ว่าการ ปตท.แถลงว่า จาก 3 องค์ประกอบหลัก คือ การดำเนินธุรกิจ การบริหารองค์กร และบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท. เป็นที่น่าพอใจ คือ มีรายได้จากการขายรวมประมาณ 364,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60 % และเมื่อหักรายจ่ายที่มีการบริหารต้นทุนต่ำสุดแล้ว ทำให้มีกำไรประมาณ 13,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อยอดขาย 3.7 %(ปี 2542 มีกำไรต่อยอดขาย 4.2 %) โดยกำไรที่ได้นี้จะต้องนำส่งเป็นรายได้รัฐประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ส่วนที่เหลือประมาณ 8,000 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นส่วนของทุนในโครงการต่างๆตามแผนการลงทุนปี 2544
สำหรับการลงทุนในปี 2544 นี้ ปตท.ได้มีการปรับลด และชะลอแผนงานลงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และความจำเป็นของประเทศด้านพลังงาน โดยจะเน้นโครงการที่มีส่วนช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคตระยะยาว ได้แก่ การลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 3,800 ล้านบาท และธุรกิจน้ำมัน 3,300 ล้านบาท อาทิ โครงการท่อส่งก๊าซฯ รอบกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนการใช้ก๊าซฯแทนน้ำมันในโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้ก๊าซ NGV ในรถยนต์ โครงการก่อสร้างสถานีเติม NGV โครงการท่อส่งน้ำมันสนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนเพิ่มทุนในบริษัทในเครืออีกประมาณ 7,000 ล้านบาท อาทิ บ.โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด บ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด และบ. อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) เป็นต้น
นอกจากการประกอบธุรกิจแล้ว ปตท.ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ปตท.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งโครงการประกอบด้วยการปลูกกล้าไม้ การดูแลบำรุงรักษา และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนรอบพื้นที่ปลูกป่าในรูปหมู่บ้าน ปตท.พัฒนา จนถึงปัจจุบัน สามารถปลูกป่าไปแล้วกว่า 800,000 ไร่ และจัดตั้งหมู่บ้าน ปตท.พัฒนาจำนวน 171 แห่ง โดยปี2544 ปตท.มีแผนจะปลูกป่าอีก 85,000 ไร่ และจัดตั้งหมู่บ้าน ปตท.พัฒนาเพิ่มอีก 20 แห่ง พร้อมกับเร่งส่งเสริมหมู่บ้าน เดิมทั้ง 171 แห่งให้มีความเข็มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตลอดไป--จบ--
-สส-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version