กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.43) เวลา 10.00 น. ที่โรงเรียนประชานิเวศน์ (ฝ่ายมัธยม) นายวินัย พุกรักษา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษา และพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนประชานิเวศน์ เขตจตุจักร เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของโรงเรียน จะได้นำไปจัดทำเป็นญัตติเสนอต่อสภากทม. พร้อมทั้งขอมติที่ประชุมเพื่อให้ฝ่ายบริหารช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้โรงเรียนในสังกัดกทม.
นายวินัย กล่าวว่า โรงเรียนประชานิเวศน์ เป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และเป็นโรงเรียนที่ขยายโอกาสทางการศึกษาแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร เปิดสอนในระดับเตรียมประถม รับนักเรียนที่จบอนุบาล 3 ต่อ ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีโครงการหลายโครงการรองรับการจัดการศึกษา อาทิ ด้านประหยัดและออม โครงการธนาคารโรงเรียนออมสิน, ด้านสิ่งแวดล้อม โครงการรุ่งอรุณ โครงการห้องเรียนสีเขียว โครงการสวนหมอกและเกษตรทฤษฎีใหม่ , ด้านต่างประเทศ โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับต่างประเทศ (ญี่ปุ่น) , ด้านส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร โครงการติวเข้มมุ่งสู่มหาวิทยาลัย โครงการแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ และโครงการเรียนเสริมเพิ่มปัญญา และในโอกาสต่อไป โรงเรียนประชานิเวศน์จะเป็นโรงเรียนตัวอย่างนำร่องให้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 431 แห่ง
นายวินัย กล่าวต่อว่า จากรายงานของโรงเรียนประชานิเวศน์นั้น ปัญหาและอุปสรรคของโรงเรียน ส่วนใหญ่ เป็นด้านบุคลากร คือ ขาดครูที่มีวุฒิตามสาขาเอกที่เปิดสอน เช่น วิชาในหมวดวิทยาศาสตร์ ฟิสิกซ์ หรือ ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น ด้านสถานที่ คือ มีห้องเรียนไม่เพียงพอทำให้ต้องนำห้องพิเศษมาเป็นห้องเรียนประจำ ไม่สะดวกต่อการเรียนการสอน ไม่มีโรงอาหารที่ได้มาตรฐาน ไม่มีสถานที่ออกกำลังกาย เพราะนักเรียนมีจำนวนมาก อย่างไรก็ตามโรงเรียนประชานิเวศน์ได้แก้ปัญหาเบื้องต้นโดยการจ้างครูภาคเอกชนมาสอนเป็นรายชั่วโมง โดยหางบประมาณในการจัดจ้างเอง รวมทั้งให้เด็กเล็กรับประทานอาหารบนห้องเรียน เป็นต้น นอกจากนี้จากการที่ตนได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนต่าง ๆ ทั้ง 431 แห่ง พบว่า สถานที่มีความจำเป็นมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเด็กเล็กชั้นอนุบาล หรือเตรียมประถม 1 โรงเรียนในสังกัดกทม. ยังมีไม่เพียงพอ เนื่องจากประสบกับปัญหาบุคคลที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในอาศัยในกรุงเทพมหานคร ทำให้บุตรไม่มีที่เรียน ประกอบกับผู้ปกครองได้ย้ายบุตรจากโรงเรียนเอกชน เข้ามาเรียนในโรงเรียนกทม. เพราะโรงเรียนกทม.มีนโยบายให้เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้คณะกรรมการการศึกษาและพัฒนาชุมชนจะได้รวบรวมปัญหาต่าง ๆ ประชุมกับฝ่ายบริหารของกทม. และเสนอเป็นญัตติต่อสภากทม. ในสมัยประชุมสภากทม.ต่อไป--จบ--
-นศ-