ILCT: Amazon.com กับปัญหาข้อกฎหมาย

อังคาร ๑๘ ธันวาคม ๒๐๐๑ ๑๗:๐๗
กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
ปัจจุบันคงต้องยอมรับว่าเว็บไซท์ amazon.com ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของธุรกิจดอทคอมที่ประสบความสำเร็จไปแล้วท่ามกลางเว็บไซท์อื่นๆหรือธุรกิจดอทคอมที่เริ่มลดน้อยถอยลงลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกตั้งแต่การจากไปของเว็บไซท์ boo.com ที่ใช้งบประมาณหลายพันล้านบาทเพื่อทำธุรกิจการจำหน่ายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตและไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามธุรกิจดอทคอมก็ยังคงดำเนินต่อไป ในส่วนของข้อพิพาทในทางกฎหมายนั้นก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้มีคดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับ amazon.com อยู่ 2 คดีที่น่าสนใจที่ผมจะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังคือ1) คดีข้อพิพาทระหว่าง Amazon.com และ Barnsnandnobel.com ในเรื่องของแนวคิดในทางธุรกิจ (Business Method)
ปัญหาเริ่มจาก Amazon.com คิดค้นแนวคิดทางธุรกิจคือ เทคโนโลยี One- Click- Buy เพื่อให้ลูกค้าของ Amazon.com ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกไว้แล้วสามารถซื้อสินค้าได้โดยหลังจากเลือกสินค้าเสร็จก็เพียงกดปุ่ม One -Click -Buy คอมพิวเตอร์ก็จะดำเนินการประมวลผลทั้งหมดโดยที่ท่านไม่ต้องกรอกรายละเอียดใดๆอีก Amazon.com นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปจดทะเบียนสิทธิบัตรไว้กับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของอเมริกา US-PTO (Patent and Trademark Office) และได้รับสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาคู่แข่งของ Amazon.com คือ Barnsandnoble.com ซึ่งทำธุรกิจจำหน่ายหนังสือทางอินเตอร์เน็ทเช่นเดียวกับ Amazon.com ให้บริการแก่ลูกค้าให้สามารถซื้อหนังสือได้โดยใช้เทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันที่เรียกว่า "Express Lane" Amazon.com ฟ้องร้องดำเนินคดีกับ Barnsandnoble.com ฐานละเมิดสิทธิบัตร Barnsandnoble.com ต่อสู้ว่า เทคโนโลยีการกดเพียงแค่ปุ่มเดียวพื่อซื้อสินค้าได้มีมานานแล้วโดยเริ่มจากระบบ Basketing Order System ของ Netscape ศาลอเมริกันตัดสินว่า barnsandnoble.com ละเมิดสิทธิบัตร โดยพยานที่มีน้ำหนักที่สุดของ Amazon.com คือ พยานผู้เชี่ยวชาญที่เบิกความยืนยันว่าเทคโนโลยี One -Click-Buy มีความแตกต่างจากเทคโนโลยีการสั่งซื้อสินค้าแบบเดิมที่เรียกว่า. "Dual Click" นอกจากนี้เทคโนโลยี One-Click -Buy ใช้คุกกี้ (cookies) เพื่อจดจำรายละเอียดของลูกค้าซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยีเดิมอย่างมาก
ปัญหาดังกล่าวนี้หากพิจารณาตามกฎหมายไทยคือ พ.ร.บ.สิทธิบัตร และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของไทยก็ยังเป็นปัญหาว่า แนวคิดทางธุรกิจจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทยหรือไม่ ผมเห็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนี้น่าที่จะได้รับความคุ้มครองทั้งในฐานะสิ่งประดิษฐ์ตามกฎหมายสิทธิบัตรและคุ้มครองฐานะคอมพิวเตอร์ซอพแวร์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ครับ อย่างไรก็ตามคงขึ้นอยู่กับเจ้าของแนวคิดทางธุรกิจด้วยว่าต้องการได้รับความคุ้มครองแบบใด
2) ปัญหา ชื่อโดเมน .biz ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า เมื่อกลางปีนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการจดทะเบียนชื่อโดเมนคือ ICANN(The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers)ได้ประกาศเพิ่มสกุล ชื่อโดเมนอีก 7 สกุลคือ .aero .biz .coop .info .museum .name และ .pro เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการจดทะเบียนชื่อโดเมนซ้ำซ้อนและปัญหา cybersquatter ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Amazon.com คือ บริษัท Neulevel ที่ได้รับอนุญาตจาก ICANN ให้ดำเนินการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน .biz นั้นเปิดให้เจ้าของเว็บไซท์หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ถูกต้องจองชื่อโดเมน. biz (ตั้งแต่กลางปี 2544 จนถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา) หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวชื่อโดเมนใดที่มีผู้ต้องการมาก ก็จะทำการประมูลหรือสุ่ม เป็นเหตุให้ Amazon.com ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า "amazon.com" ส่งหนังสือบอกกล่าวถึง Neulevel ว่าจะดำเนินคดีฐานละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า ซึ่งก็ต้องคอยดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นกับ บริษัท Afilias ผู้รับสิทธิในการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน .info เช่นกัน ในส่วนประเทศไทยก็เป็นปัญหาครับว่า การจดทะเบียนชื่อโดเมนภาษาไทยหรือ ชื่อโดเมน..th หากเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ต้องการจดชื่อโดเมนเพิ่มบุคคลอื่นจะสามารถใช้ชื่อโดเมนนั้นได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น หากเว็บไซท์ yahoo.com ไม่ต้องการจดชื่อโดเมนคำว่า "yahoo.co.th" บุคคลอื่นสามารถจดชื่อโดเมนและใช้ชื่อดังกล่าวได้หรือไม่หากใช้กับสินค้าหรือบริการคนละประเภทกัน หรือในกรณีที่ชื่อทางการค้าที่เหมือนกันเช่น คำว่า "apple" ที่มีเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า"apple" เป็นส่วนประกอบจำนวนมาก ผู้ใดจะเป็นผู้ได้สิทธิในชื่อโดเมนนั้น หรือเจ้าของชื่อโดเมนต้องไล่ตามจดชื่อโดเมนทุกสกุลเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน ขณะที่กฎหมายเครื่องหมายการค้าของไทยคือ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ก็ยังมี ปัญหาในเรื่องการปรับใช้ ในกรณีที่ cybersquatter นำเครื่องหมายการค้าไปทำให้เสื่อมค่า(dilution)แต่ไม่ได้ใช้กับสินค้าหรือบริการ เพราะกฎหมายเครื่องหมายการค้าของไทยมีเพียงแนวคิดทางกฎหมายที่คุ้มครองเฉพาะเรื่องการก่อให้เกิดความสับสนหลงผิดต่อสาธารณชน (misleading) เท่านั้น
จากตัวอย่างดังกล่าว ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายมากมายซึ่งนักกฎหมายหรือประชาชนทั่วไปคงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและร่วมกันแก้ไขโดยทำความคุ้นเคยกับกฎหมายและเทคโนโลยีให้มากขึ้นครับ ในต่างประเทศมีแนวคิดใหม่ที่แก้ไขปัญหาข้อพิพาทบนอินเตอร์เน็ตคือร่วมกันสร้างองค์กรเฉพาะที่ดูแลตนเอง (Self-Regulation) โดยมีกฎเกณฑ์ที่ดูแลชาวอินเตอร์เน็ตด้วยกันเองที่เรียกว่า "nettiguette" ครับปีหน้า 2545 ประเทศไทยจะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ E-Commerce มากพอสมควร ดังนั้นผมจะมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการปรับใช้กฎหมายดังกล่าว อย่าลืมติดตามนะครับ สุดท้ายนี้ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบแต่ความสุขในปีใหม่ที่จะมาถึงนะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ!--จบ--
-ณท-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ