กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ตลท.
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงถึงผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ประจำเดือน กันยายน 2543 ดังนี้
1) อนุมัติการจัดตั้งบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด และเห็นชอบหลักเกณฑ์การรับและการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภท NVDR
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้อนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์จัดตั้งขึ้นโดยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 99 ของทุนจดทะเบียน ดำเนินการออกหลักทรัพย์ประเภทใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non —voting Depositary Receipt : NVDR) เพื่อแก้ไขอุปสรรคกรณีผู้ลงทุนที่เป็นสถาบันต่างประเทศไม่สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่เป็นคนต่างด้าว (Thai Trust Fund ) คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ มีมติอนุมัติให้ตลาดหลักทรัพย์จัดตั้งบริษัทย่อยขึ้น คือ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด โดยมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการออกตราสาร NVDR สำหรับการซื้อหรือขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแทนผู้ลงทุนต่างประเทศ โดยไม่มีข้อติดขัดในเรื่องจำนวนหลักทรัพย์ที่ถือครองหรือสัญชาติ เพื่อให้ผู้ลงทุนที่ถือตราสารดังกล่าวสามารถรับสิทธิประโยชน์ทางการเงินได้เสมือนลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Right/TSR) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (Warrant) แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ยังมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การรับและเพิกถอนหลักทรัพย์ การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทผู้ออก และการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภท NVDR ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) การรับและเพิกถอนหลักทรัพย์ประเภท NVDR
1.1. ตลาดหลักทรัพย์จะรับ NVDR เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยทันทีที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. อนุญาตให้บริษัทผู้ออก NVDR เสนอขายตราสารดังกล่าวต่อประชาชนทั่วไป
1.2. ตลาดหลักทรัพย์จะเพิกถอน NVDR จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เมื่อบริษัทผู้ออกตราสารดังกล่าวเลิกดำเนินกิจการ
2) การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทผู้ออก NVDR
2.1. บริษัทผู้ออก NVDR ต้องเปิดเผยข้อมูลมายังตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับจำนวนรวมของหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งบริษัทได้ลงทุนหรือมีไว้ ณ วันสุดท้ายของเดือน ภายใน 3 วันทำการ
3) การซื้อขายหลักทรัพย์ การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ NVDR
3.1 ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อขาย NVDR ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ โดยกระบวนการส่งคำสั่งซื้อขายและการจับคู่คำสั่งซื้อขาย NVDR ในระบบซื้อขายหลักทรัพย์ ใช้หลักเกณฑ์การซื้อขายเช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไป
3.2 คำสั่งซื้อขายจะต้องระบุว่าเป็นการซื้อขายเพื่อ NVDR เพื่อที่จะสามารถแบ่งแยกรายการซื้อขายตราสารดังกล่าวออกจากการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไป และใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการส่งมอบหลักทรัพย์ รวมทั้งการปิดโอนหลักทรัพย์เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางการเงินต่างๆ
3.3 กระบวนการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์เช่นเดียวกับหลักทรัพย์ทั่วไป
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการก.ล.ต. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป รวมทั้งนำหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขอรับฟังความเห็นจากบริษัทจดทะเบียนก่อนดำเนินการออก NVDR
2) อนุมัติให้ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินโครงการทดลองการซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธี Electronic Auction และระบบ Market Maker เพื่อเสริมสภาพคล่องของหลักทรัพย์เพื่อให้การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมลดการกระจุกตัวและมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยมีวิธีการซื้อขายที่หลากหลายเหมาะสมกับสภาพคล่องของแต่ละหลักทรัพย์ และมีความเคลื่อนไหวของราคาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีมติอนุมัติให้ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินโครงการทดลองการซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธี Electronic Auction ควบคู่กับระบบ Market Maker เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเสริมสภาพคล่องของหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยให้เป็นความสมัครใจของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งที่จะเข้าร่วมโครงการทดลอง และบริษัทสมาชิกแต่ละรายที่จะสนใจทำหน้าที่เป็น Market Maker ในหลักทรัพย์ใดๆ ที่เข้าร่วมโครงการทดลอง การซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธี Electronic Auction จะมีการจับคู่คำสั่งซื้อขายเป็นรอบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้จากการสุ่มเลือกเวลา (Random Matching Time) โดยวิธี Call Market ในลักษณะเดียวกันกับการกำหนดราคาเปิดและปิดของการซื้อขายปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากวิธีการซื้อขายแบบ Continuous Automatic Matching ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้คำสั่งซื้อขายมีโอกาสจับคู่และเกิดการซื้อขายได้มากขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่หลักทรัพย์ โครงการทดลองการซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธี Electronic Auction และระบบ Market Maker มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การซื้อขายหลักทรัพย์โดยวิธี Electronic Auction
1.1. เวลาจับคู่ซื้อขาย : กำหนดเวลาจับคู่ซื้อขายวันละ 2 ครั้ง รอบการซื้อขายละ 1 ครั้ง โดยการสุ่มเลือกเวลาจับคู่ซื้อขาย (Random Matching Time) รอบแรกระหว่างช่วงเวลา 11.00 น.—11.05 น. และรอบที่สองระหว่างช่วงเวลา 16.00 น.—16.05 น.
1.2. การเรียงลำดับและจับคู่คำสั่งซื้อขาย : คำสั่งซื้อขายจะถูกเรียงลำดับตามลำดับราคาและเวลาที่ดีที่สุด (Price and Time Priority) และจับคู่โดยวิธี Call Market ณ ราคาที่ทำให้เกิดปริมาณการซื้อขายสูงสุด
1.3. อายุของคำสั่งซื้อขาย : คำสั่งซื้อขายที่ไม่ได้รับการจับคู่ในรอบแรก จะถูกเก็บไว้เพื่อรอการจับคู่ในรอบที่สอง ทั้งนี้ ระบบซื้อขายจะยกเลิกคำสั่งซื้อขายที่ไม่ได้รับการจับคู่ทั้งหมดเมื่อสิ้นวัน
1.4. การเผยแพร่ข้อมูลการซื้อขาย : มีระบบการเผยแพร่ข้อมูลการซื้อขายที่แยกต่างหากจากการซื้อขายในปัจจุบัน
2. หลักทรัพย์ที่จะเข้าร่วมในโครงการทดลอง
2.1. หลักทรัพย์ที่จะเข้าร่วมในโครงการทดลองการซื้อขายหลักทรัพย์วิธี Electronic Auction จะเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในระดับปานกลาง และเป็นหลักทรัพย์ที่บริษัทสมาชิกให้ความสนใจจะลงทุนหรือทำหน้าที่ Market Maker ซึ่งอาจจะเป็นหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการดีหรือมีศักยภาพ แต่มีจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ (Floating Shares) ไม่มากนัก ทำให้ผู้ลงทุนที่สนใจจะลงทุนไม่สามารถซื้อขายได้ตามที่ต้องการ
2.2. ตลาดหลักทรัพย์จะคัดเลือกกลุ่มหลักทรัพย์ที่จะเข้าร่วมโครงการทดลองดังกล่าวในเบื้องต้น โดยพิจารณาจากอัตราการหมุนเวียนของการซื้อขาย (Turnover Ratio) แต่ละหลักทรัพย์ ในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2543 และคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในระดับปานกลาง เพื่อจัดส่งรายชื่อให้บริษัทสมาชิกพิจารณาเลือกหลักทรัพย์ที่บริษัทสนใจ ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะคัดเลือกหลักทรัพย์จำนวนประมาณ 30-40 หลักทรัพย์โดยเรียงลำดับตามความสนใจของบริษัทสมาชิก เพื่อประกาศรายชื่อให้บริษัทสมาชิกทราบ และให้บริษัทสมาชิกติดต่อกับบริษัทจดทะเบียนผู้ออกหลักทรัพย์ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อแจ้งความจำนงที่จะเป็น Market Maker ให้แก่หลักทรัพย์ดังกล่าว รวมทั้งขอความเห็นชอบก่อนเข้าร่วมโครงการทดลอง
3. บทบาทหน้าที่ของ Market Maker
3.1. ให้บริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งมี Market Maker ได้เพียง 1 ราย โดยที่ Market Maker แต่ละรายอาจทำหน้าที่เป็น Market Maker ของบริษัทจดทะเบียนได้มากกว่า 1 บริษัท
3.2. Market Maker มีหน้าที่จัดหาข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุน เป็นการกระตุ้นความสนใจในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว
3.3. Market Maker มีหน้าที่ส่งคำสั่งเสนอซื้อและเสนอขาย (Two-way Quote) โดยให้ราคาเสนอซื้อและเสนอขายมีช่วงห่าง 1 ช่วงราคา (Spread) ก่อนเวลาจับคู่ซื้อขาย เพื่อให้ช่วงราคาเสนอซื้อเสนอขายแคบลงและเกิดการซื้อขายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะนำโครงการทดลองการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว รับฟังความคิดเห็นจากบริษัทสมาชิกและบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งแก้ไขข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดจะเริ่มดำเนินการตามโครงการทดลองประมาณต้นปี 2544
3.โอนสิทธิการเป็นสมาชิกอันเนื่องมาจากการแยกธุรกิจของ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์อนุมัติการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) ให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่อันเป็นผลมาจากการแยกการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกัน โดยได้พิจารณาเห็นว่า บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นสมาชิก กล่าวคือ มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ มีผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ในธุรกิจหลักทรัพย์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งในด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ ระบบการปฎิบัติงาน และการควบคุมภายในที่ดี รวมทั้งมีฐานะทางการเงินและผลประกอบการในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด จะเข้าเป็นบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ หมายเลข 27 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไป
4. แต่งตั้งอนุกรรมการบริหารตลาดหลักทรัพย์ใหม่ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีมติแต่งตั้ง นายกุลวัฒน์ เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) เป็นอนุกรรมการบริหารตลาดหลักทรัพย์ใหม่ สืบแทน นายศิริพงษ์ สมบัติศิริ อนุกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2545 ตามวาระที่เหลืออยู่ของอนุกรรมการท่านเดิม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
ฝ่ายสารนิเทศ
โทร. 229-2046 หรือ 229-2040 ถึง 2043
โทรสาร 359-1005--จบ--
-อน-