โรงพยาบาลทั่วกทม.ลงมติเริ่มนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคก่อนเม.ย.45

พุธ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๐๑ ๑๐:๕๐
กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กทม.
โรงพยาบาลทั่วกทม.ลงมติเริ่มนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคก่อนเม.ย.45 เตรียมความพร้อมขณะรอ 75 จังหวัดลงทะเบียนคนไข้ลงตัว
ที่โรงแรมรอยัลซิตี้ เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.44) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนถ้วนหน้า หรือนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ร่วมกับผู้ประกอบการและผู้บริหารโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วกรุงเทพฯ โดยมี นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน
นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้ประกอบการด้านการรักษาพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วกรุงเทพฯ ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า เห็นด้วยกับการสนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่งทุกโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ จะต้องดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ดีเนื่องจากในกรุงเทพฯ ยังมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินการ โดยเฉพาะโครงสร้างด้านสาธารณสุขที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น มีโรงพยาบาลหลายสังกัด เช่น โรงพยาบาลของกทม. โรงพยาบาลทบวงมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลกลาโหม โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งให้บริการในระดับ 3 หรือตติยภูมิ เช่น การผ่าตัดที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคได้นั้น จึงต้องมีความชัดเจนในการแบ่งสรรคนไข้เพื่อให้ได้รับการดูแลได้อย่างทั่วถึง ยุติธรรม และมีคุณภาพอยู่ในมาตรฐานการรักษา นอกจากนี้การบริการดังกล่าวยังต้องครอบคลุมประชากรจากต่างจังหวัดที่มาอาศัยและทำงานในกทม. กว่า 3 ล้านคน นอกเหนือจากประชากรตามทะเบียนราษฎร์ของกทม.ด้วย แต่ในเบื้องต้นยังไม่สามารถแยกแยะหรือตรวจสอบได้ว่าคนไข้มีต้นสังกัดลงทะเบียน สถานรักษาพยาบาลซ้ำซ้อนหรือไม่ ที่ประชุมจึงมีมติว่าเพื่อขจัดปัญหาเรื่องทะเบียนของผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในกรุงเทพฯ เห็นควรให้รอ 75 จังหวัดทั่วประเทศ มีการขึ้นทะเบียนคนไข้ในความดูแล และดำเนินการไปก่อน จากนั้นผู้ให้บริการในกรุงเทพฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการภายใน 3-6 เดือน (1 ม.ค. - 1 เม.ย.45)
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาเห็นว่า เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ปีละจำนวน 1,197 บาท/คน นั้น ยังไม่เพียงพอที่จะให้บริการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันจึงคาดว่าจะสามารถดำเนินการตามนโยบายได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องขอจัดสรรเพิ่มเติมตามความจำเป็น ทั้งนี้ที่ประชุมฯ เห็นพ้องที่จะจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาดูแลจัดสรรงบประมาณคนไข้ รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานของผู้ให้บริการในกทม. อย่างไรก็ดีระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นตามกฎหมาย ก็จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมารองรับ เพื่อพิจารณาด้านการบริการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ให้สามารถดำเนินการตามนโยบายฯต่อไปได้ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจาก กทม. รพ.ทบวงมหาวิทยาลัย รพ.กลาโหม รพ.มหาดไทย รพ.สาธารณสุข รพ.เอกชน สภากาชาดไทย และสำนักงานประกันสังคม ร่วมเป็นคณะทำงาน จากนั้นจะมีการประทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ