กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--สมอ.
สมอ. สานต่อแผนปฏิบัติการอำนวยความสะดวกด้านการค้าภายใต้กรอบอาเซม รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประเมินความเสี่ยงสำหรับอาหาร (Food Safety Risk Assessment) กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2544 ณ โรงแรม Le Royal Meridien กรุงเทพฯ หวังช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนของไทย
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมเอเซีย - ยุโรป หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า อาเซม (Asia-Europe Meeting : ASEM) เป็นกิจกรรมความร่วมมือในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (a partnership of equal) ระหว่างเอเซียและยุโรปที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2537 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเอเซียและยุโรปให้แน่นแฟ้นขึ้นอย่างไม่เป็นทางการทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยมีกิจกรรมดำเนินการใน 3 ด้านด้วยกัน คือ ประกอบด้วยการเจรจาด้านการเมือง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของ ASEM นั้นมีเป้าหมายสำคัญที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการค้าและการลงทุนของประเทศในกลุ่มเอเซียและยุโรป โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลงทุน (Investment Promotion Action Plan : IPAP) และแผนปฏิบัติการอำนวยความสะดวกด้านการค้า (Trade Facilitation Action Plan : TFAP) ขึ้น เพื่อรองรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยแผนปฏิบัติการอำนวยความสะดวกด้านการค้า หรือ TFAP มีวัตถุประสงค์ที่จะอำนวยความสะดวกด้านการค้า และเปิดเสรีด้านการค้า โดยการลดอุปสรรคทางการค้าประเภทที่ไม่ใช่ภาษี (non-tarriff barriers) และแผนปฏิบัติการดังกล่าว ประกอบด้วยสาขาต่างๆ คือ สาขามาตรฐานการตรวจสอบ การรับรอง การรับรองระบบงาน และกฎระเบียบทางเทคนิค สาขาการกักกันโรค และมาตรการสุขลักษณะของคน สัตว์และพืช และสาขาพิธีการศุลกากร เป็นต้น
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ และผู้แทนประเทศไทยได้รับเป็นผู้ประสานการปฏิบัติ (Facititator) ฝ่ายเอเซีย ใน 2 สาขา คือ สาขามาตรฐาน การตรวจสอบ การรับรอง การรับรองระบบงาน และกฎระเบียบทางเทคนิค โดยมีเลขาธิการ สมอ. เป็นผู้ประสานการปฏิบัติ และในสาขาการกักกันโรคและมาตรการสุขอนามัยของคน สัตว์ และพืช มี ดร.ภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมอนามัย ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เป็นผู้ประสานการปฏิบัติในสาขาดังกล่าว สำหรับภาระหน้าที่ของ สมอ. นั้นก็คือ จะต้องเข้าร่วมประชุมดำเนินการในฐานะผู้ประสานการปฏิบัติทั้ง 2 สาขาดังกล่าวปีละ 2 ครั้ง รวมทั้งการรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและสัมมนาระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ประสานการปฏิบัติทั้ง 2 สาขา ประมาณปีละ 1 ครั้ง สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Food Safety Risk Assessment : Its Application and Implication on international Food Trade ที่กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2544 ณ โรงแรม Le Royal Meridien กรุงเทพฯ และประเทศไทย โดย สมอ. รับเป็นเจ้าภาพนั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการสาขาการกักกันโรคและมาตรการสุขอนามัยของคน สัตว์ และพืช นับเป็นการประชุม เชิงปฏิบัติการที่เพิ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะเน้นเฉพาะเรื่อง Food Safety Risk Assessment เพื่อสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศสมาชิกในเรื่องการประเมินความเสี่ยงสำหรับอาหาร โดยเน้นในเรื่องอาหารเพื่อการส่งออก (International Food Trade) ในการประชุมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และประสบการณ์ในทางปฏิบัติ เรื่อง Food Safety Risk Assessment เพื่อลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าของกลุ่มประเทศสมาชิกแล้วก็จะมีการนำเสนอประสบการณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกทั้งฝ่ายเอเซียและยุโรปด้วย
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 80 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มเอเซีย 10 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มอาเซียน 7 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอีก 3 ประเทศ คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น และในส่วนของกลุ่มยุโรปอีก 15 ประเทศ คือ ออสเตรีย เบลเยี่ยม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน อังกฤษ เดนมาร์ก โปรตุเกส และลักเซมเบอร์ก และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ก็คือได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน Food Safety ในกลุ่มประเทศสมาชิก และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยในสินค้าอาหาร เพื่อประโยชน์ทางการค้าในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซมร่วมกันต่อไปด้วย--จบ--
-อน-