กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กทม.
วันนี้ (22 พ.ค.43) เวลา 15.00 น. ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย- ญี่ปุ่น) ดินแดง ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการ-กรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงานโครงการด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิต ในรอบ 4 ปี ของสำนักอนามัย กทม. โดยมี นพ.ขจิต ชูปัญญา นพ.ไพจิตร ปวะบุตร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร พญ. สุวณี รักธรรม ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมแถลงข่าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันในเขตกรุงเทพมหานครมีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่เกือบ 10 ล้านคนก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัยของประชาชน และอื่นๆ อีกหลายด้านตามมา
กรุงเทพมหานครในฐานะผู้รับผิดชอบความเป็นอยู่ของประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากอาหารคือปัจจัยสี่ในการดำเนินชีวิต จึงจำเป็นต้องเลือกซื้ออาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับร่างกายและคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไปในการซื้ออาหารมาบริโภค ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านอาหาร กทม.จึงได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่
1. โครงการพัฒนาตลาดสะอาดและได้มาตรฐาน เพื่อเป็นการพัฒนาตลาด ซึ่งเป็นแหล่งที่รวมสินค้าอุปโภคและบริโภค ให้ได้มาตรฐาน ในชั้นต้นมีการดำเนินการพัฒนาทางด้านกายภาพ เพื่อให้เจ้าของตลาดและผู้ขายเกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการสุขาภิบาลตลาดและการทำตลาดให้สะอาดเพื่อเป็นการกระตุ้นและเชิญชวนประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของ อีกทั้งยังได้มีการปรับปรุงคุณภาพของอาหารที่จำหน่ายในตลาดให้ได้มาตรฐานด้านความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี นอกจากนี้ประโยชน์ของการพัฒนาตลาดให้สะอาด ยังเป็นการลดแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์และแมลงนำโรค รวมถึงลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคมาสู่คนได้อีกทางหนึ่งโดยตลาดที่ได้รับใบอนุญาตทั้งสิ้นในเขตกรุงเทพมหานคร มีประมาณ 154 ตลาด ได้รับการตรวจสอบแนะนำและผ่านเกณฑ์ประเมินทางด้านกายภาพไปแล้ว 118 ตลาด ที่เหลืออีก 36 ตลาดอยู่ระหว่างให้ปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาตรฐานทางด้านกายภาพ และจะได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นระยะต่อไป
2. โครงการตรวจสอบหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักสด ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้ต้องประสบกับปัญหาศัตรูพืชรบกวน เกษตรกรขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการตกค้างของสารเคมีในผักและผลไม้ กรุงเทพมหานครตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการตรวจสอบหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักสด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.42 ในระยะแรกของการดำเนินโครงการตรวจพบว่ามีปริมาณสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ในเกณฑ์ที่บริโภคแล้วอาจไม่ปลอดภัย ประมาณร้อยละ 14.28 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตักเตือนและแนะนำ รวมทั้งแจกเอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกในการปลูกพืชผักผลไม้ให้ปลอดภัยจากสารพิษ และมีผู้ค้าบางรายที่ตรวจพบว่ามีการตกค้างของสารเคมีเกินมาตรฐานได้ทำลายผลิตผลดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบผักและผลไม้ไปแล้วทั้งสิ้น 13,876 ตัวอย่าง ไม่พบสารเคมีตกค้างจำนวน 7,623 ตัวอย่าง พบในเกณฑ์ปลอดภัย 5,617 ตัวอย่าง และพบในเกณฑ์ที่อาจไม่ปลอดภัย จำนวน 636 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 4.58 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรเริ่มให้ความสำคัญถึงเรื่องการใช้สารเคมีและให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครเป็นอย่างดี
3. โครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี เป็นอีกโครงการหนึ่งซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.40 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีมีการยกระดับมาตรฐานความสะอาดทั้งด้านอาหารและสถานที่จำหน่าย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัย และในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาแผงลอยจำหน่ายอาหารทั้งในจุดผ่อนผัน จุดเอกชน และนอกจุดผ่อนผัน โดยได้ดำเนินการอบรมผู้ค้าแผงลอยจำหน่ายอาหารให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านสุขาภิบาลอาหาร เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการประกอบปรุง จำหน่ายอาหาร และสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีโดยให้ผู้ค้าปรับปรุงแผงลอยจำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะ 10 ประการ และเพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจกับผู้ค้าอาหารที่ได้รับการพัฒนาได้มีการมอบสัญลักษณ์ “ดาว” ไปแล้วจำนวนรวมทั้งสิ้น 10,986 ราย และจะได้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานทางด้านกายภาพเป็นระยะต่อไป เพื่อบริการด้านสาธารณสุขมูลฐานให้แก่ประชาชนในชุมชน ในกรุงเทพมหานคร ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,085 แห่ง และจะดำเนินการขยายผลต่อไป โครงการศูนย์ผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นสถานที่ที่ผู้สูงอายุสามารถมารับบริการด้านการรักษาพยาบาล ให้คำปรึกษาแนะนำ และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในวันและเวลา ราชการ ซึ่งมีอยู่ขณะนี้ 70 แห่ง โครงการโปลีคลีนิค ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ภายในศูนย์บริการสาธารณสุข มีทั้งสิ้น 23 แห่ง โครงการคลีนิคนอกเวลา เป็นการขยายเวลาการรักษาของศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งจากเดิมเปิดให้การบริการรักษาตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. แต่ขยายเวลาถึง 20.00 น. โครงการถนนปลอดมลพิษ กรุงเทพมหานครจัดเป็น 1 ใน 12 มหานครของโลกที่กำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองอย่างรุนแรง และการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ กทม.จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้มีสถานีตรวจวัดและปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อแก้ปัญหาควันดำ — ควันขาว โดยให้ประชาชนนำรถมาใช้บริการฟรี 6 แห่ง ตลอดจนโครงการจอดรถดับเครื่องยนต์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กทม. ขอความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้รถและเจ้าของอาคาร ให้ช่วยกัน ดับเครื่องยนต์เวลาจอดรถ โครงการปรับปรุงมาตรฐานเตาเผาฌาปนสถาน เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากเตาเผาศพ เช่น เขม่าควัน และกลิ่น โดยได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เป็นมาตรฐานสากล โดยใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ ซึ่งจะทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์และไม่มีคราบเขม่าออกมาจากปล่องควัน ขณะนี้มี 6 แห่งแล้ว โครงการหาบ้านใหม่ให้หมาเทศ เป็นการแก้ปัญหาสุนัข จรจัด โดยกรุงเทพมหานครจะดำเนินการนำสุนัขจรจัดเหล่านี้มาฉีดยา ทำหมัน ทำความสะอาดและเมื่อมีผู้ใดสนใจอยากนำสุนัข ไปเลี้ยงก็สามารถนำไปเลี้ยงได้เลย โดยสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 245-3311, 245-5906 และ โครงการทำบัตรสวัสดิการประชาชนด้านรักษาพยาบาล (สปร.) ให้การดูแลรักษาพยาบาลฟรีแก่ประชาชน โดยขณะนี้ดำเนินการออกบัตรไปแล้วทั้งสิ้น 6 แสนใบ ทั้งนี้กทม. มีเป้าหมายจะดำเนินการออกบัตรสปร. ให้ประชาชนจำนวน 1 ล้านใบ ให้แก่ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งผู้มีสิทธิทำบัตร สปร. ได้คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ คนพิการ ทหารผ่านศึก พระภิกษุ ผู้นำศาสนา และเด็กนอกระบบการศึกษา โดยติดต่อขอมีบัตรได้ที่สำนักงานเขตที่มีทะเบียนบ้านอยู่ และเด็กนักเรียนอายุไม่เกิน 12 ปีหรือเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นลงมา ทุกสังกัด ให้ทางโรงเรียนส่งรายชื่อไปให้สำนักการศึกษาเพื่อรวบรวมส่งต่อให้กับสำนักการแพทย์ เพื่อดำเนินการต่อไป --จบ--
-อน-
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ปธพ.7 สังสรรค์
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ศิลปินรวมพลัง หนุนร่างพ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: โบว์ลิ่งเชื่อมสัมพันธ์