กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--โรงพยาบาลรามาธิบดี
โครงการลูกคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดสัมมนาเรื่องโภชนาน่ารู้ของหนูน้อย ที่ห้องประชุมจงจินต์ รศ.พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ จากหน่วยโภชนาการเด็ก ภาควิชากุมารแพทย์ เปิดเผยว่า โภชนาการในเด็กที่ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ นอกจากจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของอวัยวะแล้ว ในระยะยาวยังช่วยป้องกันโรคหลายโรคในวัยผู้ใหญ่ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ การให้อาหารที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เด็กขาดโปรตีน พลังงาน กรดไขมันที่จำเป็น ธาตุไอโอดีนและเหล็ก ทำให้สมองซึ่งเป็นส่วนที่เติบโตเฉพาะในวัยเด็กเท่านั้นผิดปกติ และไม่สามารถแก้ไขได้ แม้จะได้อาหารที่มีประโยชน์ในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ การให้อาหารเสริมควรเริ่มเมื่ออายุ ๔ เดือนขึ้นไป หลังจากให้นมแม่ซึ่งมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด การให้อาหารเสริมเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อลูก และยังสามารถฝึกให้ลูกมีวินัย อย่างไรก็ตาม โภชนาการที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงมาก หากมีการให้อาหารเสริมมากเกินไปก็จะทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ
รศ.พญ.อุมาพร กล่าวด้วยว่า ปัญหาในการให้อาหารแก่เด็กที่พบบ่อยก็คือ เด็กไม่ยอมรับประทานอาหาร สาเหตุอาจเกิดจากความเจ็บป่วยทางกาย หรือปัญหาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น บังคับหรือตามใจมากไป ทำให้เด็กเบื่ออาหาร ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องให้วิตามินเสริมแก่เด็ก เมื่อเด็กไม่สบาย แต่ไม่ควรให้วิตามินชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณที่สูงเกินไป จะทำให้เกิดการสะสม เป็นพิษ มีอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับนมที่จะให้กับเด็กแรกเกิดไม่ควรเกิน ๓๐-๓๒ ออนซ์ต่อวัน ทั้งนี้ งานวิจัยที่ผ่านมายังพบว่า เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกเกิดจะมีผลต่อความสูงในวัยรุ่น
ด้าน น.พ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จากหน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การกินอาหารของเด็กทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก สร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงต่อพ่อแม่ สร้างพัฒนาการทางอารมณ์ และสังคม สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ส่วนสาเหตุที่ลูกรับประทานอาหารยาก เกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งลักษณะเฉพาะตัวเด็ก ความกังวล ความเครียดและความเร่งรีบของพ่อแม่ พัฒนาการตามวัยของเด็ก ที่ต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการเรียกร้องความสนใจ ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ
น.พ.ศิริไชย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้บรรยากาศระหว่างการกินอาหาร เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่รับประทานอาหาร รวมทั้งประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการกินอาหาร และอารมณ์ของพ่อแม่ ปัญหาต่าง ๆ แก้ได้โดยลดความวิตกกังวลของพ่อแม่ สร้างบรรยากาศการกินที่ดี ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกินตามวัย ไม่ใช้เวลากับการกินนานเกินไป ให้ความใกล้ชิดและความสนใจเพียงพอ และดูแลอารมณ์ของพ่อแม่--จบ--
-สส-