กรุงเทพ--7 ม.ค.--บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
วานนี้ คณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ได้แถลงยืนยันอีกครั้งว่า คณะกรรมการฯ ยังคงยึดมั่นในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทุกฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ที่ผ่านมาโดยในแผนดังกล่าวจะต้องไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการเจ้าหนี้ของทีพีไอในฐานะตัวแทนของสถาบันการเงินไทยและต่างชาติมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ว่า การที่ทีพีไอจะกลับคืนสู่เสถียรภาพได้ นั้นจำเป็นต้องปฏิบัติตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จอย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้ทุกรายทั้งสถาบันการเงินไทยและต่างชาติได้เห็นชอบที่จะให้บริษัททีพีไอปฏิบัติตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ฉบับดังกล่าวภายในวันที่ 17 มกราคม 2543 นี้
จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการเจ้าหนี้ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันการยอมรับในแผนที่ได้เห็นชอบร่วมกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากทีพีไอแต่อย่างใด ทว่าคณะกรรมการเจ้าหนี้ยังคงมีความตั้งใจที่จะให้บริษัทปฏิบัติตามเอกสารสัญญาที่ทุกฝ่ายได้เห็นชอบในข้อกำหนดและเงื่อนไขทั้งหมดไปแล้วภายในวันที่ 17 มกราคม 2543 นี้
คณะกรรมการเจ้าหนี้ฯ มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยเหลือผู้บริหารของทีพีไอฟื้นฟูกิจการของบริษัท เพื่อให้มีความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้เท่านั้น มิได้มุ่งหวังที่จะเข้าไปครอบงำกิจการ หรือขายสินทรัพย์ของกิจการแต่อย่างใด ทั้งนี้ แนวทางที่บรรจุอยู่ในแผนปรับโครงสร้างหนี้ที่ได้เห็นชอบร่วมกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ได้รับหุ้นทุนของทีพีไอในสัดส่วนร้อยละ 30 จากการแปลงหนี้เป็นหุ้นโดยสัดส่วนหุ้นที่เจ้าหนี้จะได้รับนั้น จะไม่เพิ่มขึ้นจากนี้ ยกเว้นในกรณีที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแผนฉบับดังกล่าว ดังนั้น แผนปรับโครงสร้างหนี้ฉบับดังกล่าวจึงได้จัดทำขึ้นเพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทให้กลับมาแข็งแกร่ง และโดดเด่นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นอกจากนี้ การดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะช่วยให้ทีพีไอได้รับการคุ้มครองในเรื่องการชำระหนี้ ตลอดจนการบริหาร (เช่นเดียวกับความคุ้มครองที่ได้รับจากมาตรา 11 ของกฎหมายฟื้นฟูกิจการของสหรัฐอเมริกา) เป็นระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในแผนฉบับดังกล่าว ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับทีพีไอในการเพิ่มทุนบริษัทได้อีกด้วย และทั้งหมดนี้คือ สาระสำคัญที่บรรจุอยู่ในเอกสารสัญญาที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542
สำหรับ คณะกรรมการเจ้าหนี้ชุดนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของทีพีไอด้วยสัดส่วนหนี้มากกว่าร้อยละ 68 ของมูลหนี้ทั้งหมดของบริษัท สถาบันการเงินดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารแห่งอเมริกา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซิตี้แบงก์ ธนาคารส่งออก-นำเข้าสหรัฐอเมริกา บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร KfW ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซันวา ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ธนาคารส่งออก-นำเข้าเกาหลี เป็นต้น--จบ--