กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
ผลสำรวจพบว่าคนไทยนิยมซื้อยารับประทานเองมากถึงร้อยละ 50-60 เป็นช่องโหว่ให้ยาปลอมระบาด ยาที่ถูกปลอมแปลงมักเป็นยาที่นิยมใช้กันมาก แม้แต่ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศยังถูกปลอมจึงมีการซื้อยากันนอกคลินิกและโรงพยาบาล
ร.ศ.ดร. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล แนะวิธีป้องกันการได้ยาปลอมว่า "เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ขอให้ไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง โดยเฉพาะกรณีต้องใช้ยาที่นิยมกัน เนื่องจากมีผลสำรวจของนักวิจัยหลายแห่ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อยามารับประทานเองมากถึง 50-60% ของการใช้ยา โดยมักจะซื้อจากร้านขายยาทั่วไป และมีค่านิยมที่จะซื้อตามกระแส ซื้อตามๆ กัน เพราะเห็นคนอื่นใช้ แล้วก็ใช้ตาม"
"ประชาชนควรดูแลระวังสุขภาพของตัวเอง เมื่อป่วยก็ควรรู้ว่าเป็นโรคอะไร ต้องรู้ว่าได้รับยาใด เพราะบางครั้งรูปลักษณะยาเหมือนกัน แต่อาจเป็นตัวยาคนละตัว และยาชนิดเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะได้ผลเหมือนกันในทุกคน จึงไม่ควรใช้ตามเพื่อน ไม่ควรซื้อยาด้วยวิธีบอกสี บอกลักษณะว่า เป็นยาเม็ดสีนั้น กลมๆ เกลี้ยงๆ เพราะผลสำรวจพบว่าเฉพาะยาเม็ดสีขาวๆ ขนาดเท่าๆ กัน มีมากมายหลายชนิด"
ในกรณีที่ซื้อยาเอง เพราะแพทย์ให้ใช้ต่อเนื่องก็ตาม ควรจะมีการพบแพทย์เป็นช่วงๆ เพื่อปรับการใช้ยาให้เหมาะกับอาการของโรคแต่ละระยะ เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานไขมันสูง เป็นต้น
ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย ควรให้แพทย์ตรวจร่างกายว่ามีความจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ บางครั้งต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง และประการสำคัญ ควรปรับวิถีชีวิตในแต่ละวัน ให้สมดุลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ควรได้อาหารถูกส่วน ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
รศ. ดร. จุฑามณี กล่าวถึง การระวังยาปลอมอีกว่า มักเกิดขึ้นกับยาที่นิยมใช้กัน ทำให้เกิดปัญหายาปลอมระบาด หรือมีโอกาสได้ยาปลอมง่าย เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดที่ขายดี และไวอากร้า โดยเฉพาะตัวหลังเป็นยาที่คณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) กำหนดให้แพทย์ที่คลินิก และโรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นผู้สั่งยาให้ ปรากฏว่ามีชายไทยที่นิยมใช้ยาตามกระแส บ้างก็อายหมอ จึงพยายามไปหาซื้อยามาใช้เอง ทำให้เป็นเหยื่อของยาปลอมที่มีการลักลอบเข้ามาขาย ซึ่งอาจเป็นยาที่มีคุณภาพทัดเทียม หรือไม่ทัดเทียมกับตัวจริงก็ได้ มีการซื้อขายกันในราคาแพง ทั้งๆ ที่เป็นยาปลอมซึ่งอาจมีการผลิตที่ไต้หวัน และอินเดีย
"ผู้ใช้ยาจึงควรตระหนักว่า ถ้ามียาไวอากร้าขายนอกคลินิกและโรงพยาบาลแล้ว มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นยาปลอม และเรื่องของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ควรปรึกษาหมอดีกว่า ให้หมอหาสาเหตุให้พบ แล้วเป็นผู้พิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ ดีกว่าไปใช้ยาปลอม"
วิธีที่จะตรวจสอบว่าเป็นยาปลอมหรือไม่ ต้องมีการวิเคราะห์ทางเคมี ตรวจดูปริมาณสารสำคัญว่า เป็นไปตามที่ทางการกำหนดหรือไม่ ส่วนจะดูด้วยวิธีอื่นคงลำบาก เนื่องจาก ยาปลอมนั้น อาจเป็นยาเทียม หรือมีตัวยาสำคัญเพียงบางส่วน หรือแสดงชื่อเลียนแบบเป็นยาอื่น ไม่แจ้งที่อยู่ผู้ผลิตจริง ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือขึ้นทะเบียนแล้วไม่ถูกต้องตามมาตราฐาน หรือตัวยาสำคัญมีน้อยกว่า 10% ของปริมาณที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ระบุไว้ในมาตรา 72 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
ประการสำคัญ ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ที่จะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ว่า ตนป่วยเป็นโรคอะไร และได้รับยาชื่ออะไร ดังนั้น ทุกครั้งที่พบแพทย์หรือเภสัชกร ควรจะถามชื่อยา แม้จะรู้เพียงชื่อทางการค้าก็ยังดี และควรรู้อีกว่าแพ้ยาอะไร ยานั้นมีผลข้างเคียงหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจ ให้กด 1566 สายด่วน อ.ย. หรือถามจากเภสัชกร หรือติดต่อบริษัทผู้ผลิต อย่างน้อยจะได้รู้ข้อมูลพื้นฐาน
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม :
บริษัท แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
ปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล
กุนธิรา ณัฐวัฒนานนทน์
โทรศัพท์ : 257-0300 ต่อ 310, 316
โทรสาร : 257-0312E-mail
: [email protected] จบ--
-อน-