กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.44) เวลา 11.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายวันชัย อมรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา พร้อมด้วย นายไพรัช อรรถกามานนท์ นายพูลพันธ์ ไกรเสริม รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา นายวิทย์ สงวนเชื้อ ผู้อำนวยการกองโรงเรียน น.ส.ประนอม เอี่ยมประยูร ผู้อำนวยการหน่วยศึกษานิเทศก์ และนายประมุข เจริญพร ผู้อำนวยกองการเจ้าหน้าที่ สำนักการศึกษา ได้ร่วมกันแถลงข่าว เรื่องนโยบายการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานคร โดยมีประเด็นสำคัญในการแถลงข่าว 3 ประเด็น คือ การเพิ่มศักยภาพในการรับนักเรียนเข้าโรงเรียนสังกัดกทม. เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างทั่วถึง นโยบายสนับสนุนการศึกษาฟรี 5 อย่าง และโครงการขยายการศึกษาของโรงเรียนกทม. จากประถมศึกษาสู่มัธยมศึกษา
ร.ร.กทม.ได้รับความนิยม เตรียมหาแนวทางรับนักเรียนเพิ่มให้ได้เรียนทั่วถึงทุกคน
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 432 โรงเรียน มีนักเรียนจำนวน 330,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ประมาณ 20,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ผู้ปกครองนิยมนำบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และกรุงเทพมหานครจัดบริการสนับสนุนด้านการศึกษาฟรี 5 อย่าง นอกจากนี้โรงเรียนในสังกัดกทม.ยังมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสูงขึ้น และมีนโยบายจะขยายโอกาสทางการศึกษาให้มีทั้งระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษา เมื่อโรงเรียนสังกัดกทม.ได้รับความนิยมด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวทางการรับนักเรียนเข้าเรียน โดยจำกัดการเปิดรับระดับอนุบาลศึกษา เนื่องจากเป็นภารกิจรองมิใช่การศึกษาภาคบังคับ หากเปิดรับไม่จำกัดจะกระทบต่อระดับประถมศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ กรณีโรงเรียนกทม.บางแห่งได้รับความนิยมจนไม่สามารถรับนักเรียนที่มาสมัครได้ทั้งหมดนั้น กทม.ก็ได้พยายามกระจายเด็กไปยังโรงเรียนใกล้เคียงที่ยังรับนักเรียนได้ มีการดำเนินการขยายห้องเรียน โดยการสร้างอาคารใหม่ หรือการจัดตั้งโรงเรียนใหม่ เช่น โรงเรียนบางยี่ขัน ซึ่งรับโอนมาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีการจัดคูปองการศึกษาให้นักเรียนที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อยไปเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน โดยนักเรียนต้องมีภูมิลำเนาใกล้โรงเรียนแต่เข้าเรียนไม่ได้และโรงเรียนใกล้เคียงก็ไม่สามารถจะรับได้ ทั้งนี้ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการศึกษาระดับสำนักงานเขต นอกจากนี้ยังมีนโยบายให้ผู้ปกครองที่สามารถช่วยตนเองได้มีส่วนร่วมในการรับภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้กทม.สามารถนำเงินงบประมาณไปใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่นต่อไป
นโยบายสนับสนุนการศึกษาฟรี 5 อย่าง: อาหารกลางวัน เครื่องแบบ แบบเรียน อุปกรณ์การเรียน และอาหารเสริม (นม)
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวต่อว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายเรียนฟรี ดังนั้นจึงไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน แต่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนตัวเอง เช่น ค่าพาหนะเดินทาง ค่าขนม ค่าชุดลูกเสือ/ยุวกาชาด ชุดกีฬา รองเท้ากระเป๋า เข็มขัด และค่าอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ นอกจากนี้อาจมีค่าใช้จ่ายพิเศษตามที่คณะกรรมการโรงเรียนได้พิจารณาเห็นสมควร เช่น ค่าประกันชีวิตและสุขภาพ ค่าเรียนพิเศษ อาทิ คอมพิวเตอร์ ว่ายน้ำ ภาษาต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ค่าย ทัศนศึกษา เป็นต้น ซึ่งโดยเฉลี่ยผู้ปกครองจะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ปีละ 3,000-4,000 บาท สำหรับนโยบายสนับสนุนการศึกษาฟรี 5 อย่าง ประกอบด้วย อาหารกลางวัน เครื่องแบบ แบบเรียน อุปกรณ์การเรียนและอาหารเสริม (นม) นั้น คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดว่าต่อไปอาจไม่จำเป็นต้องจัดบริการให้ฟรีทั้ง 100 % โดยงบประมาณที่เหลือจะนำไปก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารเรียน ซึ่งหลายแห่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักเรียนได้ ทั้งนี้เนื่องจากในความเป็นจริงมีผู้ปกครองนักเรียนส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากกทม.ทั้งหมด เช่น มีเงินค่าอาหารกลางวันให้บุตรหลานซื้อรับประทานเอง สามารถจัดอาหารกลางวันให้บุตรหลานนำมารับประทานที่โรงเรียนหรือสามารถซื้อเครื่องแบบให้บุตรหลานเองได้ ประกอบกับมาตรา 58 (2) ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดแนวทางในการระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา โดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายด้วย อย่างไรก็ดี กทม.จะยังคงสนับสนุนการศึกษาฟรี 5 อย่างให้แก่นักเรียนที่ผู้ปกครองมีความจำเป็น หรือประสบความเดือดร้อนต่อไป โดยขณะนี้สำนักการศึกษาได้จัดทำแบบสอบถามสถานภาพผู้ปกครองของเด็กนักเรียนทั้ง 432 โรงเรียนแล้ว คาดว่าจะสามารถรวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้ในเร็ววันนี้ หลังจากนั้นทางสำนักการศึกษาจะทำการประเมิน คัดเลือก ครอบครัวที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เพื่อนำเสนอคณะผู้บริหาร กทม.พิจารณาต่อไป
ขยายโอกาสถึง ม.3 เพิ่มจำนวนเด็กเรียนต่อ
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กทม.มีความพยายามที่จะขยายโอกาสการศึกษาให้สูงขึ้น ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปี (ป.1 — ม.3) โดยตั้งแต่มีพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้ยุทธศาสตร์เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อเร่งรัดให้เกิดกระแสการเรียนต่อเพิ่มขึ้น สำหรับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามแนวทางนี้ได้ตั้งแต่ปี 2535 แต่ปัจจุบันยังมีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเพียง 58 โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสการศึกษาถึงภาคบังคับ (ม.3) และมีเพียงโรงเรียนเดียวคือ โรงเรียนประชานิเวศน์ที่ขยายการศึกษาถึงระดับ ม.6
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวในตอนท้ายว่า นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีสถิติการเรียนต่อในปีการศึกษา 2543 ดังนี้ นักเรียนชั้น ป.6 มีจำนวนทั้งสิ้น 32,591 คน มีนักเรียนที่เรียนต่อจำนวน 30,940 คน (94.93 %) นักเรียนที่ไม่เรียนต่อ จำนวน 737 คน (2.26 % ) และมีนักเรียนที่ติดตามไม่ได้ 914 คน (2.81 %) จากสถิติดังกล่าวจะเห็นว่าเหลือนักเรียนที่ไม่เรียนต่ออยู่เป็นเปอร์เซ็นต์น้อย หากขยายการศึกษาภาคบังคับเป็น 9 ปี ก็อาจจะทำให้นักเรียนเหล่านี้ได้เข้าเรียนครบทุกคน--จบ--
-นห-
- ธ.ค. ๒๕๖๗ “ต้นกล้าคุณธรรมนำวิถีพอเพียง”
- ธ.ค. ๒๕๖๗ กทม.ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สนศ.เปิดรับพิจารณาหนังสือดี จัดสรรให้ห้องสมุด 433 โรงเรียน