กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--ธนาคารเอเซีย
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มั่นใจบริการทางการเงินของแบงก์เอเชีย ประกาศจับมือเปิด 4 ช่องทางบริการทางเงินรับชำระค่าไฟฟ้า นับเป็นแบงก์แรกที่สามารถสร้างสรรค์ทางเลือกที่หลากหลายในการชำระค่าไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า และประชาชนทั่วไป โดยยึดถึงความสะดวกสบาย รวดเร็ว และประหยัดเวลา
นายชลิต เรืองวิเศษ ผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)ได้ร่วมมือกับธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ในด้านการบริการรับชำระค่าไฟฟ้าผ่าน 4 ช่องทางบริการทางการเงินของธนาคารให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายในการชำระค่าไฟฟ้า โดยนับตั้งแต่วันที่ 23พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถเลือกช่องทางการชำระค่าไฟฟ้าได้อย่างง่ายถึง 4 ช่องทาง
นางสาววิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน e-Commerce และ e-Banking ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้เป็นธนาคารนำร่องในด้านการรับชำระค่าไฟฟ้าผ่าน 4 ช่องทางบริการทางการเงินที่ทันสมัยของธนาคาร ได้แก่ การชำระเงินสดผ่านเคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร การโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารทุกจุดทั่วประเทศ ธนาคารทางอินเทอร์เน็ต ASIA CyberBanking และธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ ASIA M-Banking เพื่อตอบสนองความต้องการ และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า และประชาชนทั่วไป ให้รับความสะดวกสบายในการชำระค่าไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น
นางสาววิลาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารมีความมั่นใจในระบบความปลอดภัยของการใช้บริการด้วยเทคโนโลยีล่าสุดที่ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานสากลที่ประกอบด้วย Firewell และระบบการเข้ารหัสที่มีประสิทธิภาพสูง SSL 128 บิท เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจสำหรับลูกค้าสูงสุด
"ทั้งนี้ ธนาคารเอเชียยังคงยืนยันถึงประสิทธิภาพด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีของธนาคารให้สามารถรองรับการขยายตัวในทุกรูปแบบ ทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่ผ่านมาธนาคารได้เน้นการให้บริการ และกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดพฤติกรรมการใช้บริการผ่านระบบเทคโนโลยีของธนาคารที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบอิเล็กทรอนิคส์แบงก์กิ้ง การบริการ ASIA CyberBanking ซึ่งเป็นรูปแบบการให้บริการทางการเงินตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ธนาคารส่วนตัวบนโทรศัพท์มือถือ ASIA M-Banking และบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจสู่ธุรกิจและธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2B2C) เป็นต้น นับเป็นการรองรับธุรกรรมทางการเงินประเภทต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนใช้บริการทางการเงินของธนาคาร" นางสาววิลาวรรณ กล่าว--จบ--
-อน-