กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กรมการแพทย์
น.พ.มงคล ณ สงขลา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนแบบผู้ป่วยนอก (Matrix Program) ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ว่า จากข้อมูลการสำรวจของเอแบคโพลล์ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญดำเนินการร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. เมื่อปี ๒๕๔๒ พบว่านักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ชั้น ป.๖ ปริญญาตรี ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศจำนวน ๕,๓๖๕,๙๔๒ คน มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยเป็นทั้งผู้เสพย์ และผู้ค้าจำนวน ๖๖๓,๒๙๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๓๖ ยาเสพติดที่เกี่ยวข้องด้วย คือ ยาบ้า กัญชา สารระเหย เฮโรอีน ยาอี ฝิ่น และโคเคน ตามลำดับ ประกอบกับข้อมูลจำนวนผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ในปี ๒๕๔๒ พบผู้เข้ารับการบำบัดรักษาจำนวน ๓๘,๔๕๒ คน เป็นผู้ป่วยใหม่ ๒๔,๔๘๘ คน หรือร้อยละ ๖๓.๖๘ โดยส่วนใหญ่มีอายุ ๑๕ ปี ๒๙ ปี ร้อยละ ๖๓.๗๗ หรือ ๒๔,๕๒๑ คน ยาเสพติดที่เสพส่วนใหญ่ คือยาบ้าร้อยละ ๔๒.๑ หรือ ๑๖,๑๓๔ คน และเฮโรอีนร้อยละ ๔๑.๑ หรือ ๑๕,๗๕๗ คน
จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้เสพยาเสพติดส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน ยาเสพติดที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ยาบ้า ดังนั้น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับหน่วยควบคุมวัตถุเสพติดสถานทูตสหรัฐอเมริกา (NAS) แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยจัดทำโครงการพัฒนาและอบรมหลักสูตรการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีน ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนตาม Matrix Program การพัฒนาหลักสูตรการบำบัดรักษาและป้องกันยาเสพติด การพัฒนารูปแบบการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดอย่างครบวงจร การพัฒนาระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยาเสพติด
สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการนำรูปแบบ Matrix Program มาทดลองปฏิบัติในหน่วยงาน ๗ แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลราชบุรี สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลพระราม ๙
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า แนวทางในการบำบัดรักษายาเสพติดในอนาคตนั้น จะต้องมีการประสานงานกับทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มหลักสูตรการบำบัดรักษายาเสพติดเข้าในหลักสูตรของวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง การจัดหลักสูตรการฝึกปฏิบัติในเชิงลึกสำหรับบุคลากรด้านยาเสพติด การจัดทำสื่อและสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษา โดยปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของประเทศ นอกจากนี้ การสนับสนุนให้มีการวิจัยการปรับรูปแบบ การบำบัดรักษา การสำรวจข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการให้สุขศึกษาแก่ประชาชน และประสานความร่วมมือกับนานาชาติอีกด้วย--จบ--
-สส-
- ม.ค. ๒๕๖๘ รายการใหม่ คู่ป่วนชวนชิม
- ๒๓ ม.ค. GEN Z กับภาวะโลกร้อน
- ๒๓ ม.ค. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเปิดตัวโปรแกรม SIMBA หลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 ปี เตรียมผู้นำในยุคระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์
- ๒๓ ม.ค. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเปิดตัวโปรแกรม SIMBA หลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 ปี เตรียมผู้นำในยุคระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์