กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--ปตท.
นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการท่อส่งก๊าซฯไทย-พม่า ที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2541 ว่า ประกอบด้วย
1. การฟื้นฟู เขตก่อสร้างท่อก๊าซฯ 650 ไร่ ในเขตพื้นที่ป่า 50กม.
2. การปลูกป่าบริเวณใกล้เคียงแนวท่อ 10,000 ไร่ ซึ่ง ทั้ง 2 เรื่องนี้ได้ดำเนินการเสร็จ 100% แล้ว และ
3.การอนุรักษ์พื้นที่ป่าอีก 30,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
สำหรับการฟื้นฟู พื้นที่ป่าหลังแนวท่อก๊าซฯกว้างประมาณ 12-20 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 650 ไร่นั้น ปตท.ยังคงมีกิจกรรมปลูกซ่อม และบำรุงรักษา เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและมีการตรวจสอบทุกปี ซึ่งจากการประเมินผลในภาพรวม พบว่าขณะนี้พื้นที่มีพืชคลุมดินงอกงามดี หญ้าแฝกที่ปลูกเป็นกำแพงป้องกันการชะล้างหน้าดินเจริญเติบโตดี ส่วนไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้ และไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นเองก็เติบโตดี ทำให้พื้นที่มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิมกว่า 90 % เนื่องจาก ปตท. ได้ใช้เทคนิคทางวิศวกรรมก่อสร้าง ผสมกับวิธีด้านพฤกษศาสตร์ ในการป้องกันการชะล้างการพังทะลายของหน้าดิน และการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ ได้แก่ การทำแนวคันดิน ระบบระบายน้ำ การปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินเพื่อเสริมธาตุอาหาร การเสริมไม้ปักชำ และปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน จากนั้นจึงเริ่มปลูกกล้าไม้ยืนต้น ห่างจากจุดกึ่งกลางของแนวท่อก๊าซฯข้างละ 3 เมตร และนำไม้ที่ล้อมย้ายออกไประหว่างงานก่อสร้าง เข้ามาปลูกเสริมด้วย
นายส่งเกียรติ กล่าวด้วยว่า ปตท.และผู้เชี่ยวชาญได้เดินตรวจสอบการพังทะลายของดินตลอดแนวทุกปี ตั้งแต่ปี 2542 และได้ดำเนินการซ่อมแซมทุกปี และจากการตรวจสอบล่าสุดเมื่อต้นปี 2544 นี้ พบว่าการพังทะลายของดินมีน้อยลงเหลือเพียงไม่กี่จุด ซึ่งขณะนี้ได้ซ่อมแซมแล้ว และจากการประเมินผลที่ผ่านมาพบว่า หญ้าแฝกซึ่งได้ปลูกและปลูกซ่อมไปแล้วกว่า 2 ล้านต้น ได้ช่วยยึดหน้าดินไม่ให้เกิดการพังทะลายได้อย่างดี ทำให้คันดินมีสภาพเป็นคันดินถาวรตามธรรมชาติ
สำหรับการปลูกป่าบริเวณใกล้เคียงแนวท่อก๊าซฯ 10,000 ไร่ นั้น ปตท.มีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าที่เคยเป็นอยู่ พร้อมกับรณรงค์ให้ราษฎรบริเวณแนวท่อส่งก๊าซฯเห็นความสำคัญของป่าไม้ รวมทั้งมีส่วนร่วมดูแลรักษาและอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืนต่อไป โดย ปตท.ได้ร่วมกับราษฏรในเขตอำเภอไทรโยค และทองผาภูมิ ปลูกป่าใน 17 แปลง รวมพื้นที่ 10,000 ไร่ ตั้งแต่ปลายปี 2541 และจะดูแลรักษา (ดายวัชพืช /ปลูกซ่อม/ซ่อมแนวกันไฟและทางตรวจการ ฯลฯ)ต่อเนื่องอีกเป็นเวลา 5ปี ซึ่งจากการประเมินผลการปลูกป่า พบว่า มีอัตราเติบโต และอัตรารอดตาย เฉลี่ย 76 %-85%
ส่วนโครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่า 30,000 ไร่ รอบชุมชน 8 หมู่บ้านในเขตป่าสงวนห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ นั้น มิได้เป็นการปลูกป่า แต่จะอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่ยังมีสภาพดีอยู่ เพื่อ เชื่อมต่อผืนป่าตะวันตกให้เป็นป่าสมบูรณ์ผืนเดียวกัน โดยใช้หลักการสร้างองค์ความรู้ทางระบบนิเวศน์ในพื้นที่ป่า ทั้ง 30,000ไร่ ให้ชุมชนเข้าร่วมอนุรักษ์บนพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการด้านข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนรอบพื้นที่แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการหารือจัดทำแผนดำเนินงาน กับผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน นายส่งเกียรติ ได้ชี้แจงถึงการใช้ประโยชน์จากท่อส่งก๊าซฯไทย-พม่า ด้วยว่า ขณะนี้สามารถขนส่งก๊าซฯจากพม่ามาใช้ได้ ประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงใน โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าของเอกชน(TECO) จ.ราชบุรี โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.อยุธยา สามารถทดแทนการใช้น้ำมันเตาได้จำนวน 15.3 ล้านลิตร ช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 14,700 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากก๊าซธรรมชาติ ที่แม้จะปรับราคาขึ้นตามสัญญาแล้ว ก็ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันเตาเฉลี่ยประมาณ 20%
สำหรับก๊าซฯพม่าส่วนที่ ปตท. จ่ายเงินซื้อไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้นำมาใช้นั้น (Take or Pay) ไม่ใช่ค่าปรับ เพราะว่า ปตท. สามารถนำก๊าซฯจำนวนนี้มาใช้ได้เมื่อประเทศมีความต้องการโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าก๊าซฯอีก และถ้าหากราคาน้ำมันเตาในอนาคตทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงเช่นในปัจจุบัน ประเทศจะได้รับประโยชน์จากการใช้ก๊าซฯส่วนนี้อันเป็นผลมาจากส่วนต่างราคา เพราะว่า ก๊าซฯที่รับซื้อไว้ล่วงหน้านี้มีราคาต่ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยจากการจ่ายเงินซื้อล่วงหน้าได้ ทั้งนี้ ปตท. ได้จ่ายเงินค่าก๊าซฯล่วงหน้าของปี 2541-2542 ไปแล้วเป็นจำนวนประมาณ 327 ล้านเหรียญสรอ. ส่วนปี 2543 ยังไม่ได้จ่าย(แหล่งยาดานา 317 และเยตากุน 81 ล้านเหรียญสรอ.)เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเจรจาหาแนวทางเร่งรับก๊าซฯมาใช้ให้หมดโดยเร็ว ซึ่งตั้งแต่เดือน เมษายน ที่ผ่านมา ปตท.ได้เริ่มทยอยนำก๊าซฯ Take or Pay มาใช้บ้างแล้ว--จบ--
-สส-