กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (19 พ.ย. 44) เวลา 09.30 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศึกษาธิการเขต และผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา กทม. เพื่อมอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียน และแนวทางการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยมี น.พ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายธันวา จิวตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา นายวิทย์ สงวนเชื้อ ผู้อำนวยการกองโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษาและสำนักอนามัย ได้ร่วมกันตรวจสอบหาสารเสพติดของนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยให้โรงเรียนสำรวจนักเรียนในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดแล้วส่งรายชื่อมาที่สำนักการศึกษา พร้อมทั้งส่งนักเรียนดังกล่าวไปตรวจหาสารเสพติดที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่อยู่ในเขตพื้นที่เพื่อตรวจยืนยัน ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ 15 วันก็จะส่งผลกลับมาที่โรงเรียน จากนั้นแต่ละโรงเรียนจะรวบรวมรายชื่อนักเรียนที่มีการใช้ยาเสพติดให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.พ. 45 ก็จะสรุปผลได้ว่ามีนักเรียนใช้ยาเสพติดจำนวนเท่าใด และจะได้เตรียมส่งตัวเข้ารับการฝึกอบรมในเดือนมี.ค. ก่อนปิดภาคเรียน ที่ศูนย์อำนวยการร่วม 108 จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องของการอยู่ร่วมกัน การมีมนุษยสัมพันธ์ การเสียสละ และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมถึงการให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนได้ห่างไกลจากยาเสพติด จากการประเมินผลการดำเนินการครั้งที่ผ่านมาปรากฏว่ามีจำนวนเด็กนักเรียนติดยาเสพติดลดน้อยลง ในส่วนผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วกลับมาใช้ยาเสพติดอีก ก็จะส่งเข้าไปบำบัดที่คลีนิคบำบัดยาเสพติด สำนักอนามัยอีกครั้ง ซึ่งทางสำนักอนามัยได้รับรองผลการบำบัดผู้ติดยาเสพติดไม่ให้มีการติดยาเสพติดซ้ำ ถึงร้อยละ 80 - 90
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครนั้น กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาของ กทม.ให้มีคุณภาพ โดยจะมีการอบรมผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และฝ่ายปกครอง เกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษา จากนั้นก็จะมีการอบรมครูเป็นรายวิชาของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น อบรมการใช้อุปกรณ์ส่งเสริมการสอนต่างๆ รวมถึงการศึกษาดูงานในเรื่องของการบริหารจัดการของโรงเรียนมัธยมตอนต้น รวมทั้งอบรมการบริหารโรงเรียนภายใต้ความจำกัด เช่น การขาดแคลนครูผู้สอน เพื่อให้ครูมีความสามารถในการสอนนักเรียนระดับมัธยม ทั้งนี้จะเน้นรูปแบบการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากในอนาคตจะมีการขยายการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมากขึ้น คาดว่าปีการศึกษา 45 จะเปิดโรงเรียนมัธยมอีก 2 โรงเรียน คือโรงเรียนพูนสิน เขตพระโขนงและโรงเรียนเสนานิคม เขตจตุจักร--จบ--
-นห-