กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.44) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2544 ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ…. วาระ 2 และวาระ 3
นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ส.ก.เขตลาดกระบัง ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ กล่าวว่า เนื่องจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ได้บังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี สมควรแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติบางประการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ประกอบกับได้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงที่ออกตามความนัยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535) หลายฉบับ ซึ่งกฎกระทรวงต่าง ๆ ดังกล่าวมีรายละเอียดบางประการไม่ครอบคลุมกับสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมควรเพิ่มเติมรายละเอียดบทบัญญัติบางประการเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองของกรุงเทพมหานคร
สำหรับร่างข้อบัญญัติควบคุมอาคารฉบับใหม่นี้ มีการแก้ไขหลายหมวด อาทิ หมวดลักษณะของอาคาร เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงงาน โรงแรม โรงพยาบาล หอสมุด ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ท่าอากาศยาน สถานีขนส่งมวลชน ที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงเกิน 1 ชั้นนั้น นอกจากจะมีบันไดตามปกติแล้วต้องมีทางหนีไฟโดยเฉพาะอย่างน้อย 1 ทาง และต้องมีทางเดินไปยังทางหนีไฟนั้นได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง อาคารสาธารณะที่มีชั้นใต้ดิน ตั้งแต่ 1 ชั้นขึ้นไป นอกจากมีบันไดตามปกติแล้วจะต้องมีทางหนีไฟโดยเฉพาะอย่างน้อยอีก 1 ทางด้วย อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 6 ชั้นขึ้นไป และมีพื้นที่อาคารเกิน 200 เมตร หรืออาคารขนาดใหญ่ต้องมีผนัง ประตูปิดกั้นไม่ให้มีเปลวไฟหรือควันเข้าไปในบริเวณบันไดหลักของอาคารที่ต่อเนื่องตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป โดยผนังและประตูต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ช.ม. รวมทั้งอาคารที่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการจะต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ของข้อบัญญัติควบคุมอาคารฉบับนี้จะเน้นให้มีความปลอดภัยต่อผู้อาศัยในอาคารมากขึ้น
ทั้งนี้ ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบและจะนำเสนอผู้ว่าฯกทม.พิจารณาลงนามและประกาศใช้ต่อไป--จบ--
-นห-