กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--คิธแอนด์คิน
ผู้จัดการสำนักงานโครงการบ่อนอก ประเมินสถานการณ์การชุมนุมต้านโรงไฟฟ้า ระบุผู้ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าบ่อนอกจำนวนน้อยลง อีกทั้งประเด็นเริ่มสับสนไม่มีความชัดเจน มองกองทุนประกันผลกระทบโครงการฯ เป็นแนวคิดตัวอย่างในการแก้ปัญหาสังคม เร่งศึกษากองทุนประกันฯ ตำบลอ่าวน้อย คาดสรุปได้เร็ว ๆ นี้
นายสุรเกตุ เพ็ชรศรี ผู้จัดการสำนักงานโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกออกมาเคลื่อนไหวในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโดยเฉพาะนายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกได้พยายามสร้างประเด็นมาเคลื่อนไหว และสร้างกระแสคัดค้าน เพื่อรักษาสถานภาพการนำของตนเองเอาไว้ ในขณะที่ประเด็นในการประท้วงที่ไม่มีความชัดเจนว่าจะให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
โดยเฉพาะกรณีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดตั้งกองทุนประกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนที่ผู้นำชุมชนออกมาปฏิเสธว่า ไม่รู้ไม่เห็น ไม่รับทราบ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ยอมรับนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากการดำเนินการจัดตั้งกองทุนฯ ของบริษัทฯ ได้ร่วมดำเนินการกับประชาชนในพื้นที่ตำบลบ่อนอกและพื้นที่ตำบลอ่าวน้อยอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเป็นเวลา 1 ปีเศษ ไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นใด ๆ จนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่ประชาชนทั้งสองตำบล โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลบ่อนอกนั้นมีผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้านได้เป็นตัวแทนของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดตั้งกองทุนฯ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ดังนั้นคนที่เป็นผู้นำชุมชนจะออกมาปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นกับเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดเจนจากจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงในแต่ละครั้งนั้นมีจำนวนน้อยลงทุกขณะ และลดลงจากเมื่อก่อนที่เคยระดมคนได้นับพันคน ส่วนประชาชนที่เดินทางมาร่วมชุมนุมในวันที่ 25 มิถุนายน 2544 ที่ผ่านมาอีก 200-300 คนนั้นเป็นประชาชนจากนอกพื้นที่และแรงงานชาวพม่าที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการฯ ด้วยจำนวนหนึ่ง
นายสุรเกตุ กล่าวว่า การถือกำเนิดขึ้นของกองทุนประกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม, กองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชน และคณะกรรมการไตรภาคี ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่กับบริษัทฯ ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการสร้างแนวทางของการอยู่ร่วมกันในสังคมของโครงการขนาดใหญ่ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับโครงการอื่น ๆ ในอนาคต อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน เพราะฉะนั้นการดำเนินการต่าง ๆ ของกองทุนฯ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่และต่อส่วนรวม โดยนอกจากจะได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจนจนมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่ายสำหรับพื้นที่ตำบลบ่อนอกแล้ว ในตำบลอ่าวน้อยก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ในเร็ว ๆ นี้
"ทั้งนี้แนวทางหลักที่สำคัญประการหนึ่งของคณะกรรมการกองทุนฯ นอกจากจะเน้นที่การมีส่วนร่วมผลคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนแล้วยังเปิดโอกาสให้กับประชาชนทุกคนในพื้นที่ตำบลบ่อนอกและตำบลอ่าวน้อยเข้าร่วมกิจกรรมของกองทุนฯ ไม่มีการปิดกั้นผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แม้แต่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ก็สามารถเข้าร่วมได้ หรือสามารถขอรับเงินชดเชยกรณีที่มีผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้"
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณศศิธร โฆษิตเกษม (01) 804-3061--จบ--
-อน-