กทม. กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

พุธ ๒๗ กันยายน ๒๐๐๐ ๑๐:๒๒
กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (26 ก.ย.43) เวลา 14.00 น. ที่โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการของศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร โดยมี นายกิตติ ลิ้มชัยจิต รองเลขาธิการป.ป.ส. พญ.สุวณี รักธรรม ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ในฐานะเลขานุการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศ.ปส.ก.) เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ศ.ปส.ก. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจาสำนัก และสำนักงานเขต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 130 คน ร่วมในพิธี
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการของ ศ.ปส.ก. ว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังคงขยายตัว จากข้อมูลการสำรวจชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด ร้อยละ 72.2 ในปี 2539 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.6 ในปี 2542 โดยยาบ้ายังคงเป็นตัวยาที่แพร่ระบาดมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ สารระเหย และเฮโรอีน สำหรับกลุ่มที่มีการเสพพบใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มนักเรียน กลุ่มผู้รับจ้างและกลุ่มคนว่างงาน
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณา งาน/โครงการ ที่จะดำเนินการในปี 2544 ซึ่ง ศ.ปส.ก. ได้รับการจัดสรรงบสลากบำรุงการกุศลจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดในปี 2544 เป็นปีสุดท้าย โดยในปี 2542 และ 2543 ได้รับการจัดสรรแล้ว จำนวน 3,180,000 บาท และได้รับงบอุดหนุนจากสำนักงาน ป.ป.ส. อีก จำนวน 1,000,000 บาท รวม 4,180,000 บาท และในปี 2544 คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดของกรุงเทพมหานครมีงบประมาณรองรับแล้ว ซึ่งจะได้จัดทำแผนงานโครงการในรายละเอียดนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร หรือ ป.ป.ส.ก. พิจารณาอนุมัติและเร่งรัดการดำเนินการต่อไป ส่วนการจัดทำแผนฯ ปี 2545 ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการจัดทำแผนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปี 2545 หลังจากการสิ้นสุดงบสลากบำรุงการกุศล ซึ่งสำนักงบประมาณ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้กำหนดแนวทางการจัดทำคำของบประมาณปี 2545 โดยให้ ศ.ปส.ก. จัดทำแผนส่งสำนักงาน ป.ป.ส. ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2543 เพื่อที่สำนักงาน ป.ป.ส. จะรวบรวมจัดทำเป็นคำขอ ส่งสำนักงบประมาณพร้อมกับแผนฯ ของ ศ.ปส.จ. ทั่วประเทศ ภายในวงเงิน 5-8 ล้านบาท ทั้งนี้ ศ.ปส.ก. จะได้ร่วมกับ สำนัก/กอง และเขตพื้นที่ ดำเนินการจัดทำแผนในรายละเอียดนำเสนอต่อ ป.ป.ส.ก. และจัดส่งสำนักงาน ป.ป.ส.ต่อไป
ในการนี้ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารภายในของ ศ.ปส.ก. เนื่องจากงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของกรุงเทพมหานคร เกี่ยวข้องกับหลายสำนัก ประกอบด้วย สำนักอนามัย สำนักพัฒนาชุมชน สำนักการศึกษา สำนักการแพทย์ สำนักสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตต่าง ๆ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร จึงควรมีข้าราชการระดับสูง อาทิ ปลัดกรุงเทพมหานคร หรือรองปลัดฯ มาช่วยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการอำนวยการ กำกับ ควบคุม บังคับบัญชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเสนอปรับโครงสร้างภายใน โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ 1. ที่ประชุมเห็นชอบให้กลุ่มเขตพื้นที่ประชุมเห็นชอบในการให้กลุ่มเขตพื้นที่ (Zone) ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานคร ได้แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มรัตนโกสินทร์ กลุ่มกรุงธนเหนือ กลุ่มกรุงธนใต้ กลุ่มศรีนครินทร์ กลุ่มบูรพา และกลุ่มเจ้าพระยา เป็นกลไกในการประสานการดำเนินงานระหว่างเขตและหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้ประสานสอดคล้องกันทั้งด้านป้องกัน บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการปราบปราม 2. ที่ประชุมกลุ่มผู้แทน กระทรวง ทบวง กรม ส่วนกลาง ซึ่งมีโครงการดำเนินงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้เห็นความสำคัญของการประสานการดำเนินงาน/โครงการ ร่วมกับ ศ.ปส.ก. อย่างใกล้ชิด 3. ที่ประชุมเห็นควรให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน โดยการจัดระบบประสานและสนับสนุนระหว่าง ศ.ปส.ก. กับกลุ่มขององค์กรประชาชน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยกำหนดแผนยุทธศาสตร์ “ราษฏร์ | รัฐ ร่วมใจต้านภัยยาเสพติด” ขึ้นนั้น นับได้ว่าองค์กรดำเนินงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการยาเสพติดกรุงเทพมหานครหรือ ศ.ปส.ก. ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะนำนโยบายและแนวทางปฏิบัติไปดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว จำเป็นต้องมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติจากส่วนราชการต่าง ๆ ในส่วนกลาง ดังนั้นจากการที่ ศ.ปส.ก. ได้จัดโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการ การประเมินสถานการณ์ การดำเนินงานและพัฒนากระบวนการ จัดทำแผนป้องกันและปราบรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร ตามระบบงบประมาณใหม่ขึ้นในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในกรุงเทพมหานครนั้น นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายและแนวทางในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของกรุงเทพมหานครให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบและนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผล ดังนี้ 1. การจัดระบบอำนวยการของศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดย ศ.ปส.ก. จะต้องเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานและบูรณาการดำเนินงานตามแผนงานและระบบงบประมาณลงสู่พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการดำเนินการดังกล่าว ศ.ปส.ก. ควรมีสถานที่ปฏิบัติงาน มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนและมีระบบข้อมูลยาเสพติดที่ครบถ้วน ครอบคลุมทุกสภาพปัญหา มีการติดตามผลการปฏิบัติงาน มีการรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ 2. จะต้องมีการประเมินสถานการณ์และปัญหายาเสพติดให้ชัดเจนเพื่อจะได้กำหนดแนวทาง แผนงาน โครงการรองรับให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาข้อมูลยาเสพติดในเขตต่าง ๆ ยังไม่สามารถลงไปลึกถึงรายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ดังนั้นสำนักงานเขตทุกเขต ควรจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดการแพร่ระบาดยาเสพติดในแต่ละชุมชน กลุ่มบุคคลผู้ค้า ผู้จำหน่าย ผู้เสพ ซึ่งหากทราบข้อมูลในระดับนี้ได้ เราก็สามารถจะกำหนดแผนงาน โครงการลงไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน และเป็นรูปธรรมได้ดียิ่งขึ้น 3. การขยายชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นชุมชนเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติด จากชุมชนของกรุงเทพมหานครที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดถึงร้อยละ 81.6 นั้น ควรจะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชุมชนของกรุงเทพมหานครปลอดจากยาเสพติดลงให้ได้ประมาณร้อยละ 50 ในปี 2544 รวมถึงโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่อยู่ในชุมชนทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนสีขาวที่ปลอดยาเสพติด โดยใช้แผนงาน โครงการที่จะเข้าไปส่งเสริมชุมชนและครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง โดยสำนักงานเขตทุกเขต ต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกกลุ่ม ทุกองค์กรให้เข้ามาร่วมการดำเนินงาน
ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านที่ได้เข้ารับการสัมมนาในครั้งนี้จะได้นำความรู้ความเข้าใจ และนโยบายต่าง ๆ ดังกล่าวไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของกรุงเทพมหานครต่อไป--จบ--
-นศ-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ