กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
ครั้งที่แล้วผมค้างท่านผู้อ่านไว้ในเรื่องของปัญหาการใช้คุกกี้ (cookies) การใช้โปรแกรม Java Script และ Active X ในการเขียนเว็บไซท์ วันนี้เรามาว่ากันต่อครับ
คุ้กกี้ที่เรากำลังพูดกันถึงนี้ไม่ใช่คุกกี้ที่ผมและท่านผู้อ่านใช้กินเป็นอาหารว่างกับชาหรือกาแฟนะครับ คุกกี้ที่จะคุยกันในวันนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อธุรกรรมพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ครับ คุกกี้คือ แฟ้มข้อมูลที่เว็บไซท์ต่างๆที่ขายสินค้าหรือให้บริการโฆษณา มักนิยมใช้กัน เช่น เว็บไซท์ amazon.com เว็บไซท์ doubleclick.com เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้ใช้บริการหรือลูกค้าของตน เช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ ฐานะทางการเงิน พฤติกรรมการใช้บริการอินเตอร์เน็ตของท่านว่า ท่านชอบเข้าไปแวะชมเว็บไซท์ประเภทใด หรือชอบซื้อสินค้าประเภทใดผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต คุกกี้จะเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ท่านทำธุรกรรมทั้งหมดผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อในครั้งหน้าเมื่อท่านเข้าไปใช้บริการอีกครั้ง เว็บไซท์ก็อาจจะทักทายท่านเป็นการส่วนตัว เช่น หากผมกรอกข้อมูลหรือเข้าไปซื้อสินค้าในเว็บไซท์ amazon.com ครั้งหน้าเมื่อผมเข้าไปเว็บไซท์ amazon.com อีกครั้ง เจ้าคุกกี้ที่ฝังตัวอยู่ในคอมพิวเตอร์เครื่องที่ผมใช้ซื้อสินค้าก็จะรายงานตัวกับคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์ของ amazon.com ว่า ผมเข้ามาใช้บริการ เครื่องคอมพิวเตอร์ของ amazon.com ก็จะส่งข้อความทักทายว่า "Hey Paiboon" เป็นต้น (ซึ่งก็เป็นนโยบายทางการตลาดอย่างหนึ่งให้คุ้นเคยกับลูกค้า) นอกจากนี้ประโยชน์ของคุกกี้สำหรับเจ้าของเว็บไซท์คือข้อมูลที่ได้จากคุกกี้จะนำไปใช้เพื่อส่งอีเมลล์โฆษณาต่างๆหรือหาบริการต่างๆที่ท่านสนใจและนำมาเสนอขายท่าน นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำไมอีเมลล์ของท่านมักจะมีอีเมลล์ขยะจากบริษัทต่างๆ มากมายครับการทำงานของคุกกี้เริ่มจากเมื่อท่านเข้าไปในเว็บไซท์ที่ใช้คุกกี้เมื่อท่านใช้โปรแกรมเบราเซอร์ (browser) ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม Internet Explorer หรือ Netscape คอมพิวเตอร์ของเว็บไซท์นั้นจะส่งคุกกี้เข้าไปฝังตัวอยู่ในฮาร์ดดิสก์ของท่านเพื่อทำการเก็บข้อมูลต่างๆที่ทำผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต คุกกี้นั้นมีทั้งประเภทที่ฝังตัวอยู่ถาวรโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ("Session Cookies") และประเภทที่สามารถกำหนดระยะเวลา ขึ้นอยู่กับเจ้าของเว็บไซท์ว่าต้องการระยะเวลานานเท่าใด ข้อมูลที่ได้จากคุกกี้โดยปกติจะนำมาประมวลผลถึงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าว่าลูกค้าส่วนใหญ่มาจากที่ใด โดยดูจากที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (IP Address) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ท่านใช้ ชื่อโดเมน (Domain Name) วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อเพิ่มปริมาณยอดการจำหน่ายสินค้าโดยการส่งอีเมล์โฆษณา โปรโมชั่นต่างๆมาให้ท่านเพื่อจำหน่ายสินค้า สิ่งที่เลวร้ายของคุกกี้ก็คือข้อมูลต่างๆที่ท่านกรอกเพื่อซื้อสินค้าแม้ว่าซื้อกับเว็บไซท์อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของคุ้กกี้ รวมถึงพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของท่านทุกอย่าง ก็ถูกบันทึกทั้งหมดเหมือนมีกล้องบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดบนอินเตอร์เน็ต มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงรู้สึกว่าความเป็นส่วนตัวของท่านถูกละเมิดใช่ไหมครับ เราจะว่ากันเรื่องข้อกฎหมายทีหลังครับ
ส่วนการเขียนเว็บไซท์โดยใช้โปรแกรม Java Script และ Active X ก็มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการใช้คุกกี้เช่นกัน โดยผู้เขียนเว็บไซท์อาจเขียนโปรแกรมที่สร้างเว็บไซท์ให้สามารถดึงข้อมูลส่วนบุคคลของท่านมาใช้ได้โดยใช้โปรแกรมดังกล่าว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การใช้คุกกี้และโปรแกรมดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2543 บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ทางอินเตอร์เน็ตคือ Doubleclick.com ถูกฟ้องฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยการใช้โปรแกรมคุกกี้รวบรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต ในส่วนของประเทศอังกฤษ และประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป(EU)ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยออกกฎหมายควบคุมการใช้คุกกี้ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล คือ กฎหมาย The Directive 95/46/EC of the European Parliament and of the Council of 24 October 1995 on the protection of individuals with regard to the processing of personal data and on the free movement of such data โดยเว็บไซท์ที่จะใช้คุกกี้เพื่อเก็บข้อมูลของผู้บริโภคนั้นต้องแจ้งให้ผู้บรโภคทราบล่วงหน้าโดยระบุรายละเอียดดังนี้1) รายละเอียดของผู้ที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล 2) ประเภทของข้อมูลที่จะจัดเก็บ 3) วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บข้อมูล ฯลฯ ดังนั้น ในต่างประเทศส่วนใหญ่การใช้โปรแกรมคุกกี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงผิดกฎหมายอเมริกา อังกฤษและกลุ่มสหภาพยุโรป ในส่วนของกฎหมายไทยนั้น ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล( Personal Data Protection Bill)นั้นอยู่ระหว่างการร่างของเนคเทค ดังนั้น หากมีปัญหาข้อกฎหมายจึงต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่มาปรับใช้ ผมเห็นว่า การใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนบุคคลนั้นโดยปกติอาจไม่มีความผิดตามกฎหมายไทยครับเว้นแต่กรณีที่เก็บรวบรวมข้อมูลแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค ผู้บริโภคก็อาจดำเนินการฟ้องร้องฐานละเมิดเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหรือให้ระงับการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้ ตาม มาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างไรก็ตามเราอาจนำกฎหมายเรื่องอื่นมาปรับใช้ได้ด้วยซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไปครับ ในส่วนผู้ประกอบการหรือเว็บไซท์นั้น ผมแนะนำว่าเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดภายหลังท่านควรระบุขอบเขตการใช้คุกกี้ในธุรกิจของท่านไว้ในนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(Privacy Policy) ในเว็บไซท์ครับ นั่นคือสาเหตุที่ทำไมเว็บไซท์ในต่างประเทศถึงต้องมีการระบุถึงนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้ครับ ไม่ใช่ใส่ไว้เท่ห์ๆ นะครับมันมีความสำคัญครับ จากประสบการณ์ของผมคิดว่าเว็บไซท์ในเมืองไทย น้อยมากที่จะระบุถึงนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเขียนไว้เพื่อให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตรับทราบน่าจะดีที่สุดครับในส่วนของท่านผู้อ่านหรือผู้บริโภคทั่วไปนั้น ผมแนะนำว่าให้ใช้มาตรการในทางเทคนิคที่ใช้ป้องกันคุกกี้ครับ โดยท่านผู้อ่านอาจเข้าไปในเว็บไซท์ที่ให้บริการดาวน์โหลดโปรแกรมที่ใช้กำจัดคุกกี้ ซี่งมีทั้งดาวน์โหลดฟรี (freeware) และที่ต้องเสียเงิน (shareware) อาทิเช่น เว็บไซท์ www.tucows.belgium.eu.net/cookie95.html ซึ่งจะมีโปรแกรมกำจัดคุกกี้เช่น โปรแกรม cookie washer โปรแกรม cookie cutter โปรแกรม cookie master และโปรแกรม cookie cruncher ก็อาจทำให้ท่านสบายใจได้ในระดับหนึ่งครับ
มาถึงปัญหาสุดท้ายที่ค้างท่านผู้อ่านไว้คือ การที่ผู้ใช้บริการหรือสมาชิกของเว็บไซท์ Pantip.com นำบทความผู้อื่นมาติดประกาศบนเว็บไซท์โดยที่เจ้าของเว็บไซท์ไม่ทราบผิดกฎหมายหรือไม่ คำตอบคือ หากการกระทำดังกล่าวเป็นการทำเพื่อติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ได้มีการแสวงหากำไรที่มิชอบและไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายครับสามารถทำได้(มาตรา 32 (3) พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537) เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายรองรับไว้อยู่แล้วครับ
วันนี้คงพอแค่นี้ครับครั้งหน้าเราจะมาคุยกันในเรื่องเบาๆเพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันครับ--จบ--
-ณท-