กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (12 พ.ย.44) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง พร้อมด้วย น.ส.เดือนเต็ม อมรพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง และนายสมศักดิ์ เศรษฐนันท์ ผู้อำนวยการกองสำรวจและแผนที่ ได้ร่วมกันแถลงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรที่เกิดจากการก่อสร้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตเมือง การจัดทำ “แผนผังพัฒนาเขต” เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร และความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 9 โครงการ
ห้างใหญ่ผุดเพิ่มทั่วกรุง
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง เปิดเผยว่า จากการที่ได้มีเสียงร้องเรียนจากร้านค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการตั้งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในเขตเมือง และผลกระทบในด้านการจราจร ทำให้กรุงเทพมหานครโดยสำนักผังเมืองได้พิจารณาหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันในเขตกรุงเทพมหานครมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ จำนวน 32 แห่ง และได้ยื่นขอก่อสร้างอีก 10 แห่ง โดยในจำนวนนี้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว 7 แห่ง ยังไม่ได้ก่อสร้าง 3 แห่ง ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เหล่านี้ หากก่อสร้างโดยไม่ได้วางแผนจัดการจราจรจะก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดได้ โดยเฉพาะในย่านที่มีการจราจรแออัดอยู่แล้ว เช่น ที่บริเวณแยกบางกะปิ และแยกลำสาลี ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่แล้วถึง 3 ห้าง ได้แก่ ห้างฯแมคโคร ห้างฯเดอะมอลล์ บางกะปิ ห้างฯตะวันนา และขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างห้างฯโลตัส ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 4 ชั้น มีทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ พื้นที่ 50,000 ตร.ม. อยู่เยื้องกับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ ห่างจากแยกบางกะปิเพียง 50 เมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวปกติก็มีปัญหาจราจรติดขัดอย่างหนาแน่นอยู่แล้ว แม้จะมีการวางผัง โดยตัดทางเดินเท้าให้เว้าเข้าไปเพื่อเป็นทางให้รถเข้าห้าง แต่เมื่อรถออกจากห้างก็จะต้องตัดกระแสจราจรทำให้เกิดการจราจรติดขัดอยู่ดี
ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เพิ่มเงื่อนไขการก่อสร้างห้างกลางกรุง
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวต่อว่า กรุงเทพมหานครกำลังหามาตรการควบคุมการก่อสร้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในเขตเมือง โดยแต่เดิมนั้นการขออนุญาตก่อสร้างทำได้โดยมีวิศวกรสามัญลงนามรับผิดชอบโครงการก่อสร้างก็สามารถก่อสร้างได้แล้ว แต่ขณะนี้กทม.ได้ร่างประกาศกรุงเทพมหานครขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดให้การขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร จะต้องใช้หลักฐานดังนี้ 1. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กรณีกฎหมายกำหนดให้ต้องจัดทำ 2. แผนผังการจัดการจราจรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักการจราจรและขนส่ง กรณีมีที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ 300 คันขึ้นไป 3. หนังสือเห็นชอบในหลักการให้ลดระดับคันหินทางเท้าและทำทางเชื่อมในที่สาธารณะ หรือใบอนุญาตให้สร้างทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวง เพื่อเป็นทางเข้าออกทางหลวงในเขตกรุงเทพมหานคร จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือหลักฐานการได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ร่างประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าว กรุงเทพมหานครได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะ รัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค.44 ว่า ร่างประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าเสรี จึงให้กทม.พิจารณาทบทวนเงื่อนไขใหม่ ไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจการค้า ซึ่งกทม.จะได้ดำเนินการแก้ไขร่างฯ และนำเสนอใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ต่อไป
“แผนผังพัฒนาเขต” : แผนงานสู่การปฏิบัติจริง
น.ส.เดือนเต็ม เปิดเผยถึงการจัดทำแผนผังพัฒนาเขต เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนากรุงเทพมหานครว่า กทม.ได้ขออนุมัติงบประมาณจัดทำ “แผนผังพัฒนาเขต” เพื่อเป็นการวางแผนพัฒนาพื้นที่ระดับเขตตามนโยบายและกรอบการพัฒนาเมืองที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร มาแปลงสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อผู้บริหารเขต หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารเขตระดับต่างๆ สามารถใช้แผนผังพัฒนาเขตเป็นเครื่องมือในการวางแผนและจัดทำโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละเขตได้อย่างถูกต้อง เช่นการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ การก่อสร้างถนนระบบสายรอง-สายย่อย และระบบคมนาคมขนส่ง สาธารณูปการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับประชาชน ตลอดจนโครงการพัฒนาเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี
ในการดำเนินงานเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเขตดังกล่าว สำนักผังเมืองได้มอบให้คณะที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านผังเมือง และผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากสถาบันการศึกษาและบริษัทที่ปรึกษา เอกชนร่วมกันดำเนินงานศึกษาเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาเขต ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 30 เขต และอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาในขั้นตอนต่างๆ อีก 16 เขต หากรวมพื้นที่ที่สำนักผังเมืองได้ดำเนินโครงการต่างๆ แล้ว จำนวน 4 เขต สำนักผังเมืองคาดว่าภายในปี 2545 นี้ กทม. จะมี “แผนผังพัฒนาเขต” เป็นกรอบการพัฒนาเมืองระดับเขตเต็มพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สำหรับแนวทางการพัฒนาระดับเขตด้วยการวางผังพัฒนาเขตจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาจัดทำแผนงานและโครงการพัฒนาพื้นที่เขตต่างๆของกรุงเทพมหานคร เช่น มีการกำหนดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคาร ในพื้นที่ระดับเขตและบริเวณย่อยต่าง ๆ ของเขต มีการวางโครงข่ายถนนสายหลัก- สายรอง และสายย่อยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการวางระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ที่จำเป็นต่อชุมชน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ โรงเรียน โรงพยาบาล การระบายน้ำ การจัดเก็บขยะ ฯลฯ ตลอดจนเกิดแนวทางการพัฒนาและโครงการที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
ททท.อนุมัติ 9 โครงการให้กทม.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำนักผังเมืองพิจารณาเห็นว่าพื้นที่หลายแห่งในกรุงเทพมหานครมีศักยภาพสามารถจะปรับปรุงพัฒนา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น บริเวณเมืองเก่าในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และบริเวณพื้นที่ป่าชายเลน เขตบางขุนเทียน จึงได้จัดทำโครงการเพื่อการพัฒนาโดยมุ่งเน้นเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุมัติจัดสรรโครงการในขั้นตอนแรกให้แก่สำนักผังเมืองแล้ว จำนวน 9 โครงการ จากจำนวนที่ขอไปทั้งสิ้น 10 โครงการ ตัดออกเพียงหนึ่งโครงการ คือ โครงการจัดทำสมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี โดยเมื่อวันที่ 26 ต.ค.44 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่ขอจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 39 หน่วยงานเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดในการดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้โครงการทั้งหมดสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีงบประมาณ 2545
เร่งรวบรวมรายละเอียดเสนอครม.พิจารณาอนุมัติ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในขั้นตอนต่อไปสำนักผังเมืองจะได้เร่งจัดทำแบบแปลนรายละเอียดพร้อมประมาณการซึ่งพร้อมที่จะดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างได้ทันที จัดส่งให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 15 พ.ย.44 นี้ เพื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้รวบรวมโครงการจากทุกหน่วยงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ แล้วจึงจัดส่งให้สำนักงบประมาณฯ เพื่อจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการต่อไป
สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติจัดสรรในขั้นตอนแรกจำนวน 9 โครงการ มีดังนี้ 1. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ปีงบประมาณ 2544 โดยการก่อสร้างถนนดินลูกรังถมทรายเสริมหินคลุก กว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 3,600 เมตร ช่วงจากคลองเชิงตาแพ ถึง ถนนพิทยาลงกรณ์ พร้อมสะพานข้ามคลอง 4 แห่ง งบประมาณ 43 ล้านบาท 2. โครงการปรับปรุงฟื้นฟูภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ โดยทำการก่อสร้าง สวนสาธารณะ สะพานข้ามคลองรอบกรุง ท่าเทียบเรือ แบ่งการปรับปรุงเป็น 2 ระยะ ๆ แรก (งบประมาณปี 2545) บนพื้นที่ที่จัดกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว พื้นที่ประมาณ 4,200 ตร.ม. ระยะที่ 2 (งบประมาณปี 2546) บนพื้นที่ส่วนที่เหลือประมาณ 5,600 ตร.ม. งบประมาณรวมทั้ง 2 ปี 41,850,000 บาท โดยโครงการนี้เป็น 1 ใน 20 โครงการที่อยู่ในแผนแม่บทเกาะรัตนโกสินทร์ 3. โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และทาสีอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บริเวณชุมชนซอยเลื่อนฤทธิ์ โดยการปรับปรุงสภาพผิวจราจรและทางเท้า ติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ เช่น เสาไฟฟ้า โคมไฟ ม้านั่ง และปลูกต้นไม้ พร้อมปรับปรุงสภาพอาคาร ตึกแถว จำนวน 229 ห้อง โดยการซ่อมแซมผิวผนังอาคารภายนอก และทาสีใหม่ งบประมาณ 10,239,000 บาท 4.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณแพร่งนรา และแพร่งภูธร โดยการปรับปรุงสภาพผิวจราจรทางเท้าเป็นระดับเดียวกัน พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ ประกอบ เช่น เสาไฟฟ้า โคมไฟ ม้านั่ง และซุ้มต้นไม้ งบประมาณ 11,096,000 บาท 5. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวบริเวณถนนมหาพฤฒาราม โดยการปรับปรุงทางเท้าทั้ง 2 ด้านของถนน เพื่อให้สวยงามร่มรื่น ก่อสร้างท่าน้ำด้านคลองผดุงกรุงเกษม 3 ท่า ติดตั้งราวกันตกริมคลอง พร้อมโคมไฟฟ้า ปลูกต้นไม้ และม้านั่ง งบประมาณ 11,570,000 บาท 6. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นทางเดินริมคลองหลอดราชนัดดา ช่วงถนนมหาไชย ถึง ถนนดินสอ โดยก่อสร้างทางเดินริมคลอง ติดตั้งราวกันตกสเตนเลส ดวงโคมไฟฟ้า ปลูกต้นไม้ และม้านั่งริมคลอง งบประมาณ 4,732,000 บาท 7. โครงการปรับปรุง ภูมิทัศน์บริเวณท่าช้าง - หน้าพระลาน โดยการปรับปรุงคันหินทางเท้า ติดตั้งดวงโคม เดินสายไฟฟ้า และปลูกต้นไม้ งบประมาณ 1,752,370 บาท 8. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณ ซอยกลาง ชุมชนท่าพระจันทร์ โดยการปรับปรุงสภาพผิวจราจรและทางเท้า ติดตั้งดวงโคม เก้าอี้นั่ง และก่อสร้างหลังคาโครงเหล็กเบามุงวัสดุโปร่งใสสลับทึบแสงคลุมตลอดแนวถนน ซอยกลาง งบประมาณ 4,790,000 บาท 9. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และทาสีอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยการปรับปรุงสภาพอาคารและทาสีอาคาร 3 บริเวณ ดังนี้ กลุ่มอาคารบริเวณชุมชนถนนอัษฎางค์ 92 ห้อง กลุ่มอาคารบริเวณชุมชนท่าเตียน 63 ห้อง กลุ่มอาคารบริเวณชุมชนตลาดนางเลิ้ง 161 ห้อง พร้อมจัดการสัมมนาแก่ประชาชน และหน่วยงาน เพื่อสร้างเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพในชุมชน งบประมาณ 2,054,520 บาท
ส่วนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 4 โครงการ ซึ่งกทม.ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ประจำปี 2544 นั้น สำนักผังเมืองได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 โครงการ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.44 ได้แก่ 1. โครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เส้นทางเดินสองฝั่งคลองหลอดเหนือ บริเวณตรอกสาเก (ถนนอัษฎางค์ - ถนนตะนาว) วงเงิน 2,850,000 บาท 2. โครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณซอยถนนท้ายวัง (ท่าเทียบเรือโรงโม่) ชุมชนท่าเตียน วงเงิน 1,500,000 บาท สำหรับอีก 2 โครงการที่เหลือ อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งตามสัญญาจะต้องแล้วเสร็จประมาณปลายเดือน มี.ค.45 ได้แก่ 1. โครงการปรับปรุง ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมบางขุนเทียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยทำการก่อสร้างปรับปรุงทางเดินยกระดับ และสะพานทางเดินไม้ ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ในวงเงิน 8,780,000 บาท 2. โครงการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยทำการสำรวจพื้นที่ป่าชายเลน และดำเนินการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่เขตบางขุนเทียน รวมทั้งการจัดทำแผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ดังกล่าว ในวงเงิน 1,195,600 บาท--จบ--
-นห-
- ม.ค. ๒๕๖๘ กทม. ผลักดันบางกะปิเป็นศูนย์พาณิชยกรรมรองรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม — เหลืองในอนาคต
- ม.ค. ๗๘๙๗ กทม.จัดสัมมนาให้เจ้าหน้าที่รู้เรื่องกฎหมายจัดรูปที่ดิน
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: คณะผู้ตรวจราชการกรุงเทพฯ เยี่ยมชมอุตสาหกรรมเหล็กเครือสหวิริยา
- ม.ค. ๒๕๖๘ ปลัดกทม.รับมอบสีปรับปรุงพื้นที่ทหาร
- ม.ค. ๖๖๗๖ กทม.ระดมแนวคิดเพื่อพัฒนาพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม เขตบางขุนเทียนและเขตทุ่งครุ