กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับคำถามจากท่านผู้อ่านท่านหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาการโอนชื่อโดเมน (Domain Name) ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า บริษัทไทยบริษัทหนึ่งได้ว่าจ้างนาย ก. ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทให้ดูแลเกี่ยวกับเว็บไซท์และการจดทะเบียนชื่อโดเมนของบริษัท ปรากฏว่าภายหลังนาย ก. ได้ลาออกจากบริษัทไป โดยที่มิได้เปลี่ยนชื่อที่อยู่ที่ระบุไว้ในการจดทะเบียนชื่อโดเมนกับนายทะเบียนที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมน (Accredited Domain Name Registrar) หลังจากนั้น 3 เดือนปรากฏว่า ชื่อโดเมนของบริษัทถูกขายให้กับบริษัทอื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บริษัทจะเรียกร้องชื่อโดเมนดังกล่าวคืนได้หรือไม่ ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่น่าสนใจและเกิดขึ้นบ่อย จึงขอหยิบยกมาคุยกันในวันนี้ครับ
การจดทะเบียนชื่อโดเมน ปัจจุบันมีการจดทะเบียนชื่อโดเมนอยู่ 3 ประเภทครับ คือ 1) การจดทะเบียนชื่อโดเมนระดับสากล (.com .org .net) 2) การจดทะเบียนชื่อโดเมนระดับประเทศ (.co.th ในส่วนของประเทศไทย) และ 3) การจดทะเบียนชื่อโดเมนเป็นภาษาท้องถิ่น (.คอม) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการจดชื่อโดเมนประเภทใด ก็จะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่ 4 ฝ่ายคือ
1) ผู้จดทะเบียนชื่อโดเมน (Registrant) ในทางกฎหมายก็คือเจ้าของสิทธิในชื่อโดเมนซึ่งโดยปกติก็คือ เจ้าของชื่อทางการค้าหรือบริษัท นั่นเองครับ เช่น บริษัทไมโครซอฟท์ก็จะจดชื่อโดเมนว่า microsoft.com บริษัทไมโครซอฟท์ก็จะเป็น Registrant เป็นต้น
2) ผู้ติดต่อประสานงานด้านการบริหารจัดการ (Administrative Contact) บุคคลนี้จะติดต่อกับนายทะเบียนที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมนซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงาน ICANN ที่ดูแลเรื่องการจัดสรรชื่อโดเมน อาทิเช่น Network Solutions, Inc. Tucows, Inc. เป็นต้น
Administrative Contact เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุดในการจดทะเบียนชื่อโดเมนครับ เพราะการโอนสิทธิในชื่อโดเมน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของเจ้าของ (Address) หรือที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (IP Address) หรือรายละเอียดอื่นๆ ทั้งหมด จะต้องทำโดย Administrative Contact เท่านั้น ซึ่งโดยปกติคอมพิวเตอร์ของนายทะเบียนผู้รับจดทะเบียนชื่อโดเมนจะดำเนินการโอนชื่อโดเมน หรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อโดเมนโดยอัตโนมัติทันทีที่คำสั่งโอนหรือเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาจาก E-mail Address ที่ Administrative Contact ให้ไว้กับนายทะเบียนผู้รับจดทะเบียนตั้งแต่ต้น ตัวอย่างเช่น หากนาย ข. จดทะเบียนชื่อโดเมนคำว่า "Thailand.com" กับบริษัทเน็ตเวิคโซลูชั่น (NSI) โดย Administrative Contact คือ นาย ข. และ E-mail Address ของนาย ข. ที่ใช้ในการติดต่อคือ [email protected] หากคำสั่งโอนชื่อโดเมนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดดังกล่าวส่งมายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของ NSI และ เครื่องคอมพิวเตอร์ของ NSI ตรวจสอบแล้วพบว่า คำสั่งดังกล่าวมาจาก E-mail address คือ [email protected] เครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะทำการโอนชื่อโดเมนรายนั้นโดยทันทีแม้ว่าคนที่ป้อนคำสั่งจะไม่ใช่ นาย ก. เจ้าของผู้จดทะเบียนชื่อโดเมน "thailand.com" ก็ตาม
3) ผู้ติดต่อประสานงานด้านการเงิน (Billing Contact) จะทำหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการชำระเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนชื่อโดเมน หรือต่ออายุชื่อโดเมน
4) ผู้ที่ติดต่อประสานงานทางด้านเทคนิค (Technical Contact) จะทำหน้าที่รับผิดชอบทางด้านเทคนิค เช่น ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต ปัญหาทางด้านเทคนิคต่างๆ
จากที่กล่าวมาข้างต้นท่านผู้อ่านก็จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือ Administrative Contact นั่นเอง เพราะเป็นผู้ที่กำหนดได้ว่า บุคคลใดจะเป็นเจ้าของชื่อโดเมน รวมถึงกำหนดรายละเอียดต่างๆ ของชื่อโดเมน
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการในธุรกิจดอทคอมส่วนใหญ่ มักเชื่อใจให้ Web Master หรือลูกจ้างในองค์กรของตนเป็น Administrative Contact และเมื่อบุคคลดังกล่าวลาออกไปก็มิได้มีการทำโอนชื่อโดเมนกลับคืนมา หรือในบางกรณีไม่มีการทำสัญญากันไว้อย่างชัดเจนแน่นอน ลูกจ้างจึงอ้างว่าชื่อโดเมนดังกล่าวเป็นของตน และขายให้แก่บุคคลภายนอก หรือบางบริษัทอาจจะว่าจ้างนายหน้าหรือ Broker ที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมน ซึ่งไม่ใช่นายทะเบียนที่แท้จริงไปจดทะเบียนชื่อโดเมนดังกล่าวไว้ ภายหลังพอชื่อโดเมนดังกล่าวมีชื่อเสียงแพร่หลายและมีมูลค่ามากขึ้น นายหน้าดังกล่าวก็จะนำมาขายคืนแก่เจ้าของกิจการที่ว่าจ้างให้จดทะเบียน
วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ผมจะแนะนำในที่นี้มี 4 วิธีคือ
1. ท่านผู้ประกอบการ E-Commerce ทุกท่าน ควรตรวจสอบรายละเอียดการจดทะเบียนชื่อโดเมนว่า ชื่อโดเมนของท่านในปัจจุบันบุคคลใดมีชื่อเป็น Registrant และ Administrative Contact หากบุคคลนั้นเป็นลูกจ้าง Web Master ในองค์กรท่านหรือนายหน้าที่รับจดทะเบียนก็ควรเปลี่ยนแปลงมาเป็นตัวท่านเอง หรือให้บุคคลที่เชื่อถือให้เป็นผู้ดูแล หรืออาจมีการเซ็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาโอนชื่อโดเมนกับลูกจ้างดังกล่าวไว้เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง (โดยท่านสามารถเช็ครายละเอียดของการจดทะเบียนชื่อโดเมนของท่านได้ผ่านทางเว็บไซท์ www.register.com หรือ www.betterwhois.com)
2. หากจำเป็นต้องใช้ บุคคลภายนอกเป็น Administrative Contact ท่านควรส่งจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรไปที่นายทะเบียนที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมนของท่านว่า ท่านเป็นเจ้าของที่ถูกต้องแท้จริง ดังนั้น หากมีการโอนชื่อโดเมนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ ในชื่อโดเมน ท่านจะยืนยันการเปลี่ยนแปลงโดยการส่งจดหมายที่มีลายมือชื่อของท่านเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้งจึงจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
3. อาจใช้มาตรการทางเทคนิคเข้าช่วย คือ ใช้ระบบรักษาความปลอดภัย โดยใช้การเข้ารหัสลายมือชื่อแบบ Encryption หรือ PGP ซึ่งตอนจดทะเบียนชื่อโดเมนนั้นจะมีให้เลือกอยู่แล้วในเว็บไซท์ โดยท่านเป็นผู้เก็บรักษารหัสดังกล่าวไว้แต่เพียงผู้เดียว หากไม่มีรหัสก็ไม่สามารถโอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ หรือ 4. ในกรณีที่ Administrative Contact นำชื่อโดเมนของท่านไปขาย หรือโอนโดยไม่ได้รับอนุญาต ท่านก็อาจแจ้งความดำเนินคดีในทางแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือขอชื่อโดเมนคืนได้ ในส่วนคดีอาญานั้น ท่านอาจดำเนินคดีในความผิดฐานยักยอกทรัพย์กับ Administrative Contact ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไปหรือปรึกษาทนายความผู้เชี่ยวชาญครับ ว่าการดำเนินคดีในรูปแบบใด จึงจะดีที่สุด
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันธุรกิจของท่านจากปัญหาดังกล่าว ผมแนะนำว่า ท่านผู้ประกอบการทุกท่านควรรีบดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของการจดทะเบียนชื่อโดเมนขององค์กรท่านโดยเร็วครับ ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะสายเกินแก้ครับ--จบ--
-อน-