กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.44) เวลา 10.30 น. ที่แปลงนาสาธิต โรงเรียนวัดศรีสุก เขตคลองสามวา ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรนาข้าวปลอดสารพิษ โดยมี ว่าที่ ร.ต.เศวตชัย ทรัพย์บุญมี ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา นายสุทิน ชูสงวน สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตคลองสามวา สมาชิกสภาเขต ผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์ นักเรียนและประชาชนร่วมพิธี
ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวรายงานว่า จากการที่โรงเรียนได้จัดทำโครงการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้จัดกิจกรรมเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรนาข้าวปลอดสารพิษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำนา ซึ่งจะเป็นความรู้พื้นฐานด้านการประกอบวิชาชีพดังกล่าวนั้น นับว่ากิจกรรมนี้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในมาตรา 24 ที่ให้โรงเรียนจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเกิดขึ้นจากการประสานความร่วมมือกับบุคคลในชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียนให้เกิดทักษะ กระบวนการคิด มีการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมทั้งได้ลงมือฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งนักเรียนจะได้รู้จักวิถีชีวิตในชุมชน รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้เห็นคุณค่าของการประกอบอาชีพในท้องถิ่น
ทั้งนี้โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากครูภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างดียิ่ง ทุกคนได้เสียสละแรงกายและเวลาเข้ามามีส่วนร่วมจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ในวิชาการทำนา ซึ่งเป็นวิชางานเลือกของกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ
ดร.ธารินทร์ กล่าวว่า งานกิจกรรมการเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรนาข้าวปลอดสารพิษของโรงเรียนวัดศรีสุก สังกัดสำนักงานเขตคลองสามวาที่จัดขึ้นในวันนี้ นับเป็นโครงการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นแนวทางจัดการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยที่ทุกฝ่ายได้ประสานความร่วมมือกันอย่างดียิ่ง เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพตามสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกท่านได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันพัฒนานักเรียนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกที่ดี เห็นคุณค่าและประโยชน์ในวิชาชีพการเกษตร ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญการที่ได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนวิชาการทำนานั้น เพื่อเป็นการมุ่งเน้นให้นักเรียนรู้จักขั้นตอนการทำนาที่มีมาแต่บรรพบุรุษเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การรักษายิ่ง นับว่าชุมชนแห่งนี้เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้การศึกษาของบุตรหลานท่าน บรรลุตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่เน้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน--จบ--
-นห-