กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.44) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมแม่น้ำ เขตบางคอแหลม ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม สัมมนาโครงการโรงเรียนเพื่อนเด็ก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขต ศึกษาธิการเขต ผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คน โอกาสนี้นางณฐนนท ทวีสิน รองปลัดกรุงเทพมหานคร บรรยายเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการโรงเรียนเพื่อนเด็ก และ นายไพรัช อรรถกามานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวรายงานในพิธีเปิดว่า สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนีซีฟ) ในโครงการกรุงเทพเมืองเพื่อนเด็ก และโรงเรียนเมืองเพื่อนเด็กเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่งสำนักการศึกษาได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีแก่ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนชุมชนให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นเพื่อนของเด็ก โดยกำหนดโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นโรงเรียนนำร่องจำนวน 12 โรงเรียน จาก 6 สำนักงานเขต ให้มีความรู้และจัดกิจกรรมดำเนินการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนเพื่อนเด็ก โดยมุ่งพัฒนาด้านสิทธิเด็ก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นแก่เด็ก ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สำหรับโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ประกอบด้วย
1.โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภช สำนักงานเขตจตุจักร
2.โรงเรียนเสนานิคม สำนักงานเขตจตุจักร
3.โรงเรียนวิชูทิศ สำนักงานเขตดินแดง
4.โรงเรียนสามเสนนอก สำนักงานเขตดินแดง
5.โรงเรียนอยู่เป็นสุขอนุสรณ์ สำนักงานเขตประเวศ
6.โรงเรียนวัดกระทุ่มเสือปลา สำนักงานเขตประเวศ
7.โรงเรียนสวนลุมพินี สำนักงานเขตปทุมวัน
8.โรงเรียนปทุมวัน สำนักงานเขตปทุมวัน
9.โรงเรียนวัดสุวรรณ สำนักงานเขตคลองสาน
10.โรงเรียนวัดสุทธาราม สำนักงานเขตคลองสาน
11.โรงเรียนวัดเปาโรหิตย์ สำนักงานเขตบางพลัด และ12.โรงเรียนวัดคฤหบดี สำนักงานเขตบางพลัด
สำหรับแนวทางการดำเนินงานได้กำหนดเป็น 5 กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 การประชุมสัมมนาและศึกษาดูงาน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในโครงการโรงเรียนเพื่อนเด็กจำนวน 100 คน
กิจกรรมที่ 2 จัดอบรมแก่ครูแกนนำโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียน จาก 6 สำนักงานเขต เพื่อเป็นแกนนำในการทำงานและถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 60 คน
กิจกรรมที่ 3 อบรมฝึกปฏิบัติ ผู้ปกครอง ครู ชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันของแผนงานในแต่ละโรงเรียน โรงเรียนละ 60 คน
กิจกรรมที่ 4 อบรมเรื่องการเรียนรู้โดยเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางแก่ครูและนักเรียน เพื่อเตรียมการจัดตั้งสภานักเรียนในการทำกิจกรรมในโรงเรียน ๆ ละ 10 คน
กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมที่ส่งสเริมให้โรงเรียนนำร่องได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิตแก่นักเรียน โดยให้โอกาสนักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ การประชุมสัมมนาและศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ แนวทางการดำเนินงานในโครงการโรงเรียนเพื่อนเด็ก
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุม สัมมนาโครงการโรงเรียนเพื่อนเด็กของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ถือเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนเพื่อนเด็กให้กับครูและผู้บริหารโรงเรียน เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงให้เกิดเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากสภาพปัจจุบันโรงเรียนจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพนักเรียนทุกด้าน โดยยึดสิทธิเด็กเป็นฐานในการพัฒนา คือ สิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องและสิทธิที่จะมีส่วนร่วม การดำเนินการพัฒนาโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียน เป็นโครงการที่น่าส่งเสริม เพราะเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นแก่เด็ก โดยให้โอกาสนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวบรรยายว่า โครงการโรงเรียนเพื่อนเด็ก คือ โรงเรียนที่พัฒนาคุณภาพนักเรียนทุกด้าน โดยยึดหลักสิทธิเด็กเป็นฐานในการพัฒนา คือ 1. สิทธิในการทำให้เด็กมีชีวิตอยู่รอด 2. สิทธิในการได้รับการพัฒนาทุกด้าน 3. สิทธิในการได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง 4. สิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายของโครงการดังนี้ ให้สังคมและโรงเรียนตระหนักถึงสิทธิเด็กโดยทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี และได้รับการฝึกทักษะในชีวิตที่จำเป็น โครงการเมืองเพื่อนเด็กเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาคุณภาพนักเรียนในโรงเรียนเพื่อนเด็กให้เป็นเด็กให้มีประสบการณ์ตรงและสัมผัสกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เด็กได้รับการฝึกปฏิบัติจนพบความถนัดและวิธีการของตนเอง, เด็กได้ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่ม , เด็กได้รับการฝึกคิดที่หลากหลาย สร้างสรรค์ มีจินตนาการ กล้าแสดงออก และมีเหตุผล , เด็กได้รับเสริมแรงให้มีการค้นหาคำตอบแก้ปัญหาด้วยตนเองและร่วมกัน , เด็กมีการฝึกเลือกทำกิจกรรมตามความถนัด ความสามารถ และความสนใจอย่างมีความสุข , เด็กสามารถฝึกฝนตนเองให้มีวินัยและรับผิดชอบในการทำงาน , เด็กได้รับการฝึกฝนให้มีการประเมินตนเอง ปรับปรุงตนเอง ยอมรับผู้อื่น และสนใจใฝ่หาความรู้อย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ยังได้ให้คติเตือนใจสำหรับเด็กที่ต้องการจะเป็นคนเก่ง ว่า ต้องมีความรู้ทั้งไทยและสากล มีความรอบรู้ ความสามารถพิเศษเฉพาะทาง ความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะ เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ทันสมัยและทันเหตุการณ์ ทันโลก ทันเทคโนโลยี และเรียนรู้ด้วยตนเอง--จบ--
-นห-