กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กทม.
สำนักพัฒนาชุมชน กทม. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางวิชาการ โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. เร่งระดมสมองยกมาตรฐานการฝึกอาชีพ พร้อมเตรียมเสนอแนวคิดยกฐานะให้เป็นวิทยาลัยอาชีวะ และวิทยาลัยชุมชน
นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กทม. เปิดเผยว่า โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งให้บริการด้านการศึกษาวิชาชีพ แก่ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบัน นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสังคมในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ผู้ว่างงาน และผู้ถูกเลิกจ้าง ได้มีโอกาสศึกษาต่อด้านวิชาชีพ ตามความถนัด ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียน เพื่อจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพ ช่วยเหลือตนเองและครอบครัว เป็นการช่วยลดปัญหาการว่างงานของประเทศอีกทางหนึ่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพรวมถึงยกระดับมาตรฐานการฝึกวิชาชีพของกทม.และให้การฝึกอาชีพของกทม. ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงงานในปัจจุบัน อีกทั้งสามารถช่วยเหลือชุมชนได้อย่างแท้จริง สำนักพัฒนาชุมชน จึงได้จัดให้มีการ ประชุมเชิงปฏิบัติการ แก่ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ของโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ทั้ง 10 แห่ง ขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 ณ โรงแรมเฟิสท์ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 200 คน เพื่อระดมสมองพัฒนาประสิทธิภาพ ของร.ร.ฝึกอาชีพ กทม. ตลอดจนเป็นการสร้างความสมานฉันท์ในหมู่คณะ พัฒนาทักษะในการทำงานอย่างเป็นระบบ และสร้างจิตสำนึกให้บุคลากรด้านการฝึกวิชาชีพได้ตระหนักถึงภารกิจอันสำคัญต่อการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศชาติ
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการจัดสัมมนาระดมสมองในครั้งนี้ ได้ข้อสรุป ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. 5 ประการสำคัญ ดังนี้ 1. พัฒนาปรับปรุงมาตรฐานด้านวิชาการ หลักสูตรการเรียนการสอน ให้มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยจะมีการผลิต ครูต้นแบบในแต่ละสายวิชาชีพ 2. ปรับปรุงโครงสร้าง และ ทิศทางของโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ในอนาคต โดยมีแนวคิดให้ยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยอาชีวะ หรือ วิทยาลัยชุมชน ภายใต้คำขวัญที่ ว่า “ เข้าถึงง่าย ราคาถูก มีคุณธรรม ” เพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชน และสนับสนุนความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งหากแนวคิดนี้เกิดขึ้นได้ จะทำให้สามารถรองรับเด็กที่จบ ม. 3 จากโรงเรียนขยายโอกาสของ กทม. 56 แห่ง ประมาณปีละ 1600 คน ที่ไม่มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระบบการศึกษาภาคปกติ 3. สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง กลุ่มอาชีพในโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ให้ได้อย่างน้อย 2 กลุ่มอาชีพ เพื่อรองรับนักศึกษาที่จบการศึกษาและช่วยเหลือเศรษฐกิจชุมชน อีกทางหนึ่ง โดยให้นำหลักการด้านการตลาดมาเป็นเครื่องมือช่วยดำเนินการ กำหนดผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพ 4. ค้นหาจุดเด่นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้โรงเรียน โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และกำหนดมาตรฐานนักศึกษาที่จบการศึกษา โดยให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงงาน กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อย่างต่อเนื่อง และ 5. ให้ดึงภาคเอกชน และ ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล โรงเรียนฝึกอาชีพ ให้มากขึ้น ทั้งการส่งเสริมอาชีพ และการสร้างเสริมรายได้ให้กับชุมชน ทั้งนี้จะมีการติดตามผลการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
อนึ่ง สำหรับประชาชนที่สนใจ จะสมัครเข้าเรียนวิชาชีพกับโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โรงเรียนฝึกอาชีพ หรือ ศูนย์ฝึกอาชีพ ฯ ใกล้บ้าน หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 613 — 7190 , 613 7177 ในเวลาราชการ--จบ--
-นห-