ILCT: การประกันภัยสำหรับธุรกิจของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (1)

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๐๑ ๑๔:๓๗
กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยพัชรินทร์ ฉัตรวชิระกุล
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
ในปัจจุบันคงยอมรับกันว่า ในยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Technology) ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันรวมทั้งการค้าขายทางธุรกิจนิยมกระทำผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้นตามลำดับ อินเตอร์เน็ตจึงเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้จำนวนบุคคลที่สนใจที่จะประกอบธุรกิจผ่านอินเตอร์เน็ตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือที่เรียกกันว่า "E-Commerce" นั้น จะก่อให้เกิดผลกำไรที่น่าพอใจแก่ผู้ประกอบการเพียงใด ผู้ประกอบการก็ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน อาทิเช่น ในกรณีของผู้ประกอบการ E-Commerce และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ISP (Internet Service Provider) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต อาจมีความเสี่ยงที่อาจต้องรับผิดกับผู้ใช้บริการของตน เช่น ความเสียหายที่เกิดกับผู้ใช้บริการของตนเนื่องมาจากไวรัส การถูกขโมยข้อมูลโดยแฮ็คเกอร์ หรือความเสี่ยงที่เว็บไซท์ของผู้ใช้บริการของ ISP อาจมีข้อความหรือเนื้อหาของข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น ดังกล่าวนี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce ต้องระวัง
วิธีการป้องกันของผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce และ ISP จากประสบการณ์ของผู้เขียน คือ ประกอบการทั่วไปมักจะกำหนดข้อจำกัดความรับผิดของตนในกรณีต่างๆ ไว้ในข้อกำหนดและเงื่อนไข (Term & Condition) บนเว็บไซท์หรือในสัญญาที่ลงนามระหว่างกัน ระหว่าง ISP และผู้ใช้บริการ ปัญหาคือ ข้อจำกัดความรับผิดทั้งหลายนั้นเมื่อมาถึงชั้นศาลแล้ว จะมีผลบังคับใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ และอาจจะขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วย ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ซึ่งใช้บังคับกับสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพกับผู้บริโภค รวมทั้งสัญญาสำเร็จรูปทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการอาจดำเนินการคือ การทำสัญญาประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยงภัยจากปัญหาดังกล่าว
ในปัจจุบันธุรกิจประกันภัยในต่างประเทศจึงขยายขอบเขตธุรกิจประกันภัยของตนให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงภัยดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2542 กับ Viznet บริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce ในต่างประเทศเริ่มหันมาพิจารณาถึงระบบความปลอดภัย การบริหารความเสี่ยง และการป้องกันความเสี่ยงกันมากขึ้นกว่าเดิม โดย Viznet เป็นบริษัทที่มีถิ่นฐานตั้งอยู่ในมลรัฐซีแอตเติ้ล ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISP) โดนโจมตี 44 ครั้ง จากแฮ็คเกอร์ที่ใช้นามแฝงว่า "XIN FoRce" ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ลบแฟ้มจากเครือข่าย ทำให้คอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ไม่สามารถทำงานได้ ใช้วิธีการ spamming โดยส่งอีเมลล์ที่เป็นขยะไปรบกวนทำให้คอมพิวเตอร์หยุดการทำงาน ส่งข้อความที่ทำให้ Viznet เสื่อมเสียแก่ลูกค้าของ Viznet และเปลี่ยนภาพบนเว็บไซท์ของ Viznet เป็นภาพลามกอนาจาร ต่อมาหน่วยงานสืบสวนกลางหรือเอฟบีไอ (FBI) ก็สามารถจับกุมแฮ็คเกอร์ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นอดีตผู้ใช้บริการของ Viznet มีอายุเพียง 18 ปี อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ Viznet จากเหตุดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 346,000 เหรียญสหรัฐ และไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายจากประกันภัยแต่อย่างใด เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไม่ได้คุ้มครองถึงความเสียหายในลักษณะนี้ เพราะเป็นกรมธรรม์ทางธุรกิจโดยทั่วๆ ไปที่ยกเว้นความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดบนอินเตอร์เน็ต อาทิเช่น ความเสียหายที่เกิดจากการหมิ่นประมาท เช่นในกรณีที่แฮ็คเกอร์ส่งข้อความหมิ่นประมาท Viznet ให้ลูกค้าของ Viznet หรือในกรณีของการโจมตีเครือข่ายของอินเตอร์เน็ตไม่ให้สามารถใช้บริการได้ เช่น ในกรณีของยักษ์ใหญ่ Yahoo.com หรือ Amazon.com ที่โดนโจมตีจากแฮ๊คเกอร์เมื่อปี พ.ศ. 2543เป็นต้น
สาเหตุสำคัญที่กรมธรรม์ทั่วไปไม่คุ้มครองความเสียหายประเภทนี้ เนื่องจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นมีจำนวนมหาศาล และเกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น เหตุการณ์ที่ไวรัสไอเลิฟยู (Love Bug) แพร่ระบาดเป็นระยะเวลา 5 วัน บริษัทคอมพิวเตอร์เอโคโนมิคส์ (Computer Economics) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการวิจัยประเมินว่ามีมูลค่าความเสียหายถึง 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทคาร์เนอร์ อิน-สแตต กรุ๊ป (Cahners In-State Group) ได้ประเมินการความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในกรณีของเว็บไซท์ที่ขัดข้องไม่สามารถให้บริการได้ จะประมาณ 142,000 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง ตัวเลขประเมินความเสียหายดังกล่าวข้างต้นอธิบายได้ชัดเจนถึงเหตุผลหลักที่บริษัทประกันภัยไม่ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ E-Commerce ในกรมธรรม์ธุรกิจทั่วๆ ไป แต่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการ E-Commercer ต้องทำกรมธรรม์ประกันภัยพิเศษที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยทางอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะ ซึ่งมีเบี้ยประกันที่ค่อนข้างสูงซึ่งสะท้อนถึงระดับของความเสี่ยงภัยที่เกี่ยวข้อง โดยกรมธรรม์ที่คุ้มครองด้านความเสี่ยงภัยทางอินเตอร์เน็ตนั้น จะให้ความคุ้มครองความเสียหายประเภทต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce อาทิเช่น
(1) การสูญเสียรายได้ หากเว็บไซท์และเครือข่ายหยุดชะงัก (Crash) ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ซึ่งบริษัทอาจสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล จากข้อมูลของบริษัท ลอยด์ แห่งลอนดอน (Lloyd's of London) พบว่า ในปี 2542 ที่ผ่านมา บริษัทที่ประกอบธุรกิจ E-Commerce สูญเสียรายได้ประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากระบบคอมพิวเตอร์หยุดชะงักและแฮ็คเกอร์ เช่น ebay.com สูญเสียรายได้จากการจำหน่าย 5 ล้านเหรียญสหรัฐและสูญเสีย 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าหุ้นของ ebay.com ที่ตกลงมาในช่วงที่ถูกแฮ็คเกอร์ทำลายเว็บไซท์เป็นเวลา 22 ชั่วโมง
(2) การสูญเสียชื่อเสียงโดยธุรกิจที่มีภาพพจน์มัวหมองจากการที่ระบบคอมพิวเตอร์หยุดชะงักทำให้สูญเสียลูกค้า และ
(3) การถูกขโมยความลับทางการค้าและข้อมูลธุรกิจ โดยบุคคลภายในองค์กรหรือบุคคลภายนอก โดยอาจโจรกรรมทรัพย์สินที่มีค่าขององค์กร เช่น ความลับทางการค้า รายชื่อลูกค้า ข้อมูลทางการตลาด และข้อมูลอื่นๆ ซึ่งไม่อาจซื้อหามาทดแทนได้
วันนี้เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ครั้งหน้าดิฉันจะพูดถึงปัญหาดังกล่าวต่อ อย่าลืมติดตามนะคะ--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO