กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กทม.
นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.44 เวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภากทม. สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 2) พ.ศ.2544 โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติของนายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ ส.ก.เขตบางคอแหลม เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการดำเนินการก่อสร้างถนนเหนือ — ใต้ ให้แล้วเสร็จ
นายพินิจ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการก่อสร้างถนนเหนือ — ใต้ ช่วงถนนสี่พระยาถึงถนนสุรวงศ์ เพื่อบรรเทาการจราจรในถนนเจริญกรุง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2526 แต่ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จทั้งโครงการ เนื่องจากเจ้าของกลุ่มบ้านทรงไทย เลขที่ 269,269/1-5 ไม่ยินยอมรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป ขณะเดียวกันพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 10 มี.ค.44 นี้ จึงขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการดำเนินการก่อสร้างถนนเหนือ — ใต้ ให้แล้วเสร็จก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฯ จะหมดอายุลง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาปัญหาการจราจรแก่ประชาชนโดยทั่วไป และให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ได้ตั้งไว้ รวมถึงคุ้มค่ากับงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชน
ในการนี้ นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ส.ก.เขตบางรัก ได้อภิปรายเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เขตบางรักอันเนื่องมาจากการก่อสร้างถนนเหนือ — ใต้ ว่า ทำให้การจราจรติดขัด เพราะการก่อสร้างโครงการฯ ได้ตัดผ่านถนนพระราม 4 , ถนนมหานคร, ถนนสี่พระยา และถนนนเรศ ประกอบกับจากการที่ตนลงพื้นที่พบกับประชาชน ทำให้ทราบว่าประชาชน ไม่ต้องการรับมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ เพราะการจราจรติดขัด อย่างไรก็ตาม นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเห็นด้วยกับกรณีที่ ส.ก.อภิปราย และเห็นว่าการก่อสร้างในทางเทคนิคไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด รวมทั้งเห็นควรให้มีการเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ด้านนายสนั่น โตทอง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวชี้แจงถึงความคืบหน้าการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างบ้านทรงไทยว่า ขณะนี้ได้รื้อถอนบ้าน บริเวณที่อยู่รอบ ๆ บ้านทรงไทยเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงพื้นที่เพียง 60 X 12 เมตร ซึ่งเจ้าของบ้านทรงไทย อ้างว่ายังมีทรัพย์สินส่วนที่สำคัญติดค้างอยู่ ซึ่งสำนักการโยธาได้ดำเนินการผ่อนปรนให้ไป 3 ระยะแล้ว และติดประกาศขอให้ขนย้ายภายใน 30 วัน หลังจากนี้ก็จะดำเนินการรื้อย้าย ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ทันที เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาปัญหาการจราจรให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป
ทั้งนี้ที่ประชุมสภากทม. มีมติเห็นชอบในญัตติดังกล่าว และจะนำเสนอฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-