กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กรมควบคุมโรคติดต่อ
แพทย์เตือนโรคปอดบวมในเด็กอาจรักษายากขึ้น เนื่องจากเป็นเชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะตัวพื้นฐานคือ เพนนิซิลลิน และโคทรัยมอกซาโซน โดยมีอัตราการดื้อยาเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะใช้ยาพร่ำเพรื่อ
นายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ กล่าวถึงปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของโรคปอดบวมว่า ปัจจุบันโรคปอดบวมซึ่งเป็นสาเหตุการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีมากเป็นอันดับ 1 มักเกิดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดแทรกซ้อนจากการป่วยเป็นไข้หวัดก่อน โดยทั่วไปเด็กจะเป็นหวัดได้ปีละ 6-8 ครั้ง ต้นเหตุของไข้หวัดกว่าร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัส เพียงส่วนน้อยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้อาการป่วยจะหายเอง ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ผู้ปกครองเกรงว่าลูกจะเป็นมาก จึงนิยมซื้อยาปฏิชีวะพื้นฐานที่รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินทางหายใจมากินเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ ได้แก่ ยาเพนนิซิลลิน และโคทรัยมอกซาโซน ทั้งนี้พบว่าในเขตกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเอกชน มีการใช้ยาปฏิชีวนะสูงมาก และการใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสมทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยามากขึ้น จากการติดตามสถานการณ์ดื้อยาปฏิชีวนะใน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 6 แห่งทั่วประเทศ ทุก 3 ปี อัตราการดื้อยา 2 ตัวนี้เพิ่มขึ้นมาก และการดื้อยาเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เพราะจะทำให้แพทย์ต้องใช้ยาปฏิชีวนะสูงขึ้นและแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจไม่มียาใช้ ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิต--จบ--
-สส-