กทม.ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

พุธ ๒๑ มีนาคม ๒๐๐๑ ๐๙:๓๒
กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--กทม.
ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.44) เวลา 09.30 น. ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายอาทร จันทวิมล เลขานุการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นายไพรัช อรรถการมานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา น.ส.ประนอม เอี่ยมประยูร ผู้อำนวยการศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษาร่วมแถลงข่าวโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาลายมืองามตามแบบไทย และส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องของกรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภาษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ แต่ปัจจุบัน การใช้ภาษาไทย มีความผิดเพี้ยนไปมากทั้งด้านการพูด และการเขียน คือ ปัญหาด้านลายมือ จะเห็นว่าเยาวชนไทยมีการเขียนตัวอักษรที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากจนอ่านแทบไม่ออก เขียนหนังสือไม่ถูกต้องตามรูปแบบตัวอักษร วางสระวรรณยุกต์ไม่ถูกที่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน กรุงเทพมหานครซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเยาวชนจำนวนกว่า 300,000 คน ได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านภาษาไทยและมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพัฒนาส่งเสริมนักเรียนกรุงเทพมหานคร ให้มีความเข้มแข็งในการใช้ภาษาไทย จึงมีนโยบายให้โรงเรียนสังกัดกทม.พัฒนานักเรียนด้านภาษาไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยมอบหมายให้สำนักการศึกษาดำเนินโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษา มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ทั้งนี้นี้ยังเป็นการสนองพระราช-ดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับหลักสูตรประถมศึกษา และแนวทางจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ด้วย โดยกำหนดกิจกรรมให้โรงเรียนดำเนินการพัฒนานักเรียนใน 6 กิจกรรม คือ คัดลายมือ การออกเสียงภาษาไทยอย่างถูกต้อง การท่องบทอาขยานและบทร้อยกรองที่ไพเราะ การย่อความ เรียงความ และการเขียนบทร้อยกรอง ซึ่งขณะนี้สำนักการศึกษาโดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรมคือ 1. กิจกรรมหมอภาษา 2. กิจกรรมคัดลายมือตามโครงการ ลายมืองามตามแบบไทย
ผู้อำนวยการหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กล่าวด้วยว่า สำหรับกิจกรรม “หมอภาษา” เป็นกิจกรรมแรกที่ดำเนินการโดยการอบรมครู นักเรียน ตามแนวทางหมอภาษาเน้นการพัฒนาฝึกฝนนักเรียนให้สามารถออกเสียงภาษาไทยได้ชัดเจน เช่น เสียง ร , ล คำควบกล้ำ จ , ฉ , ช , ฝ, ฟ, ท ,ซ, ส, ง, เป็นต้น โดยขณะนี้จัดฝึกอบรมไปแล้วทั้งสิ้น 431 โรงเรียน และมอบหมายภารกิจให้ผู้เข้ารับการอบรมนำแนวทางไปดำเนินกิจการร้านหมอภาษาในโรงเรียน เปิดบริการออกเสียงให้นักเรียนในแต่ละโรงเรียนอย่างทั่วถึง ขณะนี้มีโรงเรียนต่าง ๆ เปิดร้านหมอภาษาไปแล้วกว่า 50 โรงเรียน และคาดว่า จะเปิดบริการอย่างทั่วถึงใน พ.ศ. 2544 ส่วนกิจกรรมการคัดลายมือตามโครงการ “ลายมืองามตามแบบไทย” จะเน้นให้ครูที่สอนวิชาภาษาไทยในสังกัดกรุงเทพมหานครทุกโรงเรียนนำความรู้ และวิธีการคัดลายมือที่ถูกต้องไปฝึกให้นักเรียนคัดลายมืออย่างถูกต้อง สวยงาม รวมทั้งวิธีการจับปากกาที่ถูกวิธี ซึ่งเรื่องนี้นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษและคาดหวังว่าในระยะเวลา 4 ปี นักเรียนในกรุงเทพมหานครทุกคนจะมีลายมือที่สวยงาม เป็นระเบียบ อ่านง่าย และถูกต้อง โดยรูปแบบตัวอักษรที่นำมาฝึกเด็กนักเรียนนั้นมี 3 รูปแบบ คือ 1. แบบหัวกลมตัวเหลี่ยม เหมาะกับระดับชั้น ป.1 — 2 เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน นักเรียนเขียนรูปแบบได้ง่าย 2. แบบหัวแหลม ตัวกลม เหมาะกับระดับชั้น ป.3-4 รูปแบบนี้ต้องใช้เส้นโค้ง นักเรียนสามารถบังคับกล้ามเนื้อมือได้ดีขึ้น เขียนได้รวดเร็ว คล่องมือกว่าหัวกลม ตัวเหลี่ยม 3. แบบอาลักษณ์ เป็นการสอนเพิ่มเติมชั้น ป.5 — 6 และชั้นมัธยมศึกษาเป็นลักษณะลายมือที่สวยงาม ไม่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้เขียนในเอกสารที่สำคัญที่ต้องการความสวยงาม เช่น ปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเหรียญตราต่าง ๆ ฯลฯ ทั้งนี้จะได้มีการฝึกอบรมครูตามโครงการดังกล่าวในวันที่ 26-29 มี.ค.นี้ ที่โรงเรียนวัดดอกไม้ เขตยานนาวา
เลขานุการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นนิมิตรหมายอันดียิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการสอนคัดลายมือแก่นักเรียนในสังกัด กรุงเทพมหานคร โดยกำหนดเป็นนโยบายที่จะให้เห็นผลภายในระยะเวลา 4 ปี เนื่องจากในปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทกับการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น และการสอบที่ใช้แบบปรนัยทำให้การเขียนมีการใช้น้อยลง ถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป การคัดลายมือของไทยคงจะต้องสูญหายไปอย่างแน่นอน ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีควรจะอนุรักษ์และสนับสนุนให้เด็กนักเรียนรักในการเขียนอักษรภาษาไทย ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเด็กนักเรียนสังกัดกทม. จะเป็นเด็กที่มีลายมือที่สวยงาม เขียนได้ตามลักษณะของตัวอักษร รวมทั้งมีการวางรูปพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ได้อย่างถูกต้อง--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO