กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ประจำเดือนเมษายน 2543 มีรายละเอียดดังนี้
1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติของหลักทรัพย์จดทะเบียนเรื่องมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ และขั้นตอนพิจารณารับหลักทรัพย์จดทะเบียน
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต, (ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2543) ซึ่งเห็นชอบการแก้ไขหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนตามที่ตลาดหลักทรัพย์เสนอ ซึ่งเน้นการพิจารณาคุณภาพและความเพียงพอของข้อมูลที่เปิดเผย (Disclosure-Based Screening) โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในส่วนผลการดำเนินงานเชิงตัวเลขให้ยืดหยุ่นขึ้น และมีเกณฑ์เรื่องผลการดำเนินงานเป็น 3 ทางเลือกแก่บริษัทผู้ยื่นคำขอ ได้แก่ เกณฑ์กำไรสุทธิ เกณฑ์รายได้ และเกณฑ์ขนาดมูลค่าตลาด เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัทที่มีศักยภาพและคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาจดทะเบียนได้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ในการพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย เพิ่มทางเลือกแก่ผู้ลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
เพื่อผลักดันการบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนและความน่าสนใจของสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนแก่ผู้ลงทุน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขหลักเกณฑ์คุณสมบัติของหลักทรัพย์จดทะเบียนในเรื่องมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) และปรับปรุงขั้นตอนการพิจารณาคำขอรับหลักทรัพย์จดทะเบียน มีรายละเอียดดังนี้
1.1) ยกเลิกหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิว่าต้องมีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เท่ากับหุ้นละ 10 บาท โดยเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนสามารถกำหนด Par Value ได้เองตามความเหมาะสมกับสภาพหลักทรัพย์ของบริษัทในกรอบที่กฎหมายอนุญาต การยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทจดทะเบียนที่หุ้นของบริษัทมีราคาตลาดสูง ให้สามารถกำหนด Par Value ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นและลดราคาตลาดลง อันจะทำให้หุ้นของบริษัทมีสภาพคล่องสูงขึ้นและเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ Par Value ที่มีความหลากหลาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่บริษัทต้องเปิดเผยและผู้ลงทุนสามารถติดตามได้
1.2) ปรับปรุงกระบวนการพิจารณารับหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทใหม่ให้กระชับยิ่งขึ้น โดยยกเลิกขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณารับหลักทรัพย์ฯ และให้ฝ่ายจัดการเสนอเรื่องโดยตรงต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพื่อพิจารณาอนุมัติ การยกเลิกขั้นตอนดังกล่าวจะทำให้กระบวนการพิจารณารับหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ดำเนินไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในกรณีทั่วไป ตลาดหลักทรัพย์จะสามารถแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทผู้ยื่นคำขอทราบได้ในเวลาประมาณ 10 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วนจากบริษัท
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์จะเสนอรายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติของหลักทรัพย์จดทะเบียนเรื่องมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ และขั้นตอนการพิจารณารับหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทที่ปรับปรุงใหม่นี้ แก่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
อนึ่ง คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ยังได้รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งเห็นชอบการแก้ไขเกณฑ์รับหลักทรัพย์จดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ใหม่ตามที่ตลาดหลักทรัพย์เสนอ เพื่อสนับสนุนให้บริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก และบริษัทที่จัดตั้งได้ไม่นานแต่มีศักยภาพในการเติบโต สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ได้สะดวกขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวดภายใต้กระดานเดียวกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบความเสี่ยงของการลงทุนที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน คือ หมวดที่ 1 สำหรับหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีประวัติการประกอบธุรกิจในหมวดอุตสาหกรรมทั่วไป และ หมวดที่ 2 สำหรับหลักทรัพย์ของบริษัทที่ไม่มีประวัติการดำเนินงานแต่มีอัตราการเติบโตทางธุรกิจสูง เช่น บริษัทเทคโนโลยี บริษัทขนาดเล็กที่จัดตั้งได้ไม่นาน เป็นต้น (รายละเอียดในเอกสารแนบเรื่องหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ใหม่)
2) ขยายระยะเวลาผ่อนผันการปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียนตามที่ตลาดหลักทรัพย์ได้มีมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียน โดยผ่อนผันการปฎิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว แก่บริษัทจดทะเบียนที่แก้ไขปัญหาฐานะทางการเงินด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ถึง 31 ธันวาคม 2542 โดยมีรายละเอียดการผ่อนผันดังนี้
2.1) ผ่อนผันให้บริษัทจดทะเบียนที่เปลี่ยนสถานะไปเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้น (Holding Company) และมีการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของทุนชำระแล้วของบริษัทแกน, บริษัทได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทที่มิใช่บริษัทจดทะเบียน และมีลักษณะเป็นการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม (Backdoor Listing) และการควบกิจการกับบริษัทที่มิใช่บริษัทจดทะเบียนโดยผ่อนผันให้ทั้ง 3 กรณีไม่ต้องยื่นคำขอให้พิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่
2.2) อนุโลมให้บริษัทมีที่ปรึกษาทางการเงินในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจไม่อยู่ในรายชื่อที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่ได้รับความเห็นชอบจากตลาดหลักทรัพย์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ
2.3) ผ่อนผันเกณฑ์การเพิกถอนหลักทรัพย์แก่บริษัทจดทะเบียนที่มีผลขาดทุนจากการประนอมหนี้ หรือ ขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อันเนื่องมาจากการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งมีผลทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าต่ำกว่าศูนย์ โดยตลาดหลักทรัพย์จะไม่นับรวมผลขาดทุนที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวที่ดำเนินการภายในปี 2542
เนื่องจากขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากอยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ประกอบกับทางการได้มีนโยบายส่งเสริมด้วยการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมในการปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมกำหนดให้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2542 ออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2544 เพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้บรรลุผลสำเร็จ และสอดคล้องกับนโยบายของทางการ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาผ่อนผันการปฎิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ดังรายละเอียดข้างต้นออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะเสนอการขยายระยะเวลาผ่อนผันการปฎิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
3) เพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO จำนวน 6 บริษัทที่มีปัญหาฐานะการเงินและไม่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2543 มีมติสั่งการให้บริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO จำนวน 6 บริษัท ที่ประสบปัญหาฐานะทางการเงินและไม่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ได้แก่ บริษัทเอกโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ONE) บริษัทไทยแมล่อน โปลีเอสเตอร์ จำกัด (มหาชน) (TMP) บริษัทเจ้าพระยาหินอ่อน-แกรนิต จำกัด (มหาชน) (CMG) บริษัทโอเรียนเต็ล แล็ปปิดารี่ จำกัด (มหาชน) (O-LAP) บริษัทประมงไทย จำกัด (มหาชน) (T-FISH) และบริษัทบีจูส์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BIJOUX) ให้เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และแก้ไขปัญหาฐานะการเงินภายใน 60 วัน หรือภายในวันที่ 28 มีนาคม 2543 มิฉะนั้น ตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทนั้น ปรากฏว่าเมื่อครบระยะเวลาตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด บริษัทจดทะเบียนซึ่งเข้าข่ายถูกเพิกถอน 6 บริษัทดังกล่าว ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อฟื้นฟูกิจการให้ดีขึ้น
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จึงมีมติให้เพิกถอนบริษัท ONE, TMP, CMG, O-LAP, T-FISH และ BIJOUX จากการเป็นบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนของทั้ง 6 บริษัท เป็นเวลา 30 วันก่อนการเพิกถอน คือ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2543
4) อนุมัติให้ บงล. ซากุระ จำกัด โอนสิทธิการเป็นสมาชิกให้แก่ บล. ไทย ซากุระ จำกัด และอนุมัติขยายเวลาการแยกการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกันแก่ บงล. กรุงเทพธนาทร จก. (มหาชน)
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีมติอนุมัติให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทย ซากุระ จำกัด บริษัทสมาชิกหมายเลข 30 โอนสิทธิการเป็นสมาชิกให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ไทย ซากุระ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกอันเป็นผลจากการแยกการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกันครบถ้วนแล้ว และมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม ข้อ 13 แห่งข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับสมาชิก ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ไทย ซากุระ จำกัด จะเข้าเป็นสมาชิกหมายเลข 30 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นไป
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ยังได้มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการแยกการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกันของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทสมาชิกรายสุดท้ายที่ต้องแยกการประกอบธุรกิจดังกล่าวออกจากกัน จากกำหนดเดิมวันที่ 30 เมษายน 2543 ออกไปจนกว่าบริษัทจะดำเนินการแล้วเสร็จ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ ฝ่ายสารนิเทศ โทร. 229-2040-3 หรือ 229-2046 โทรสาร 359-1005--จบ--
-อน-