กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ฟิทซ์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์ กรุงเทพ/ลอนดอน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิภายในประเทศ (National ratings) ระยะยาวที่ AA(tha) และแนวโน้มมีเสถียรภาพ ของธนาคารเอเชีย มูลค่า 2 พันล้านบาท หรือประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ อายุ 7 ปี ครบกำหนดในปี 2551 นอกจากนั้นฟิทช์ยังจัดอันดับเครดิตระยะยาวและระยะสั้นแก่หนี้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคารเอเชียในระดับ AA+(tha) และ F1+(tha) ตามลำดับ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธินั้นจะอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของหนี้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันอยู่หนึ่งลำดับ เนื่องจากลำดับชั้นการจ่ายคืนหนี้ให้กับหุ้นกู้ด้อยสิทธินั้นจะอยู่รองจากลำดับการจ่ายคืนหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้สามัญ และ ผู้ฝากเงินของธนาคาร การจัดอันดับเครดิตระดับประเทศครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฟิทช์ให้อันดับเครดิตระดับประเทศแก่ธนาคารไทย ซึ่งฟิทช์สำนักงานใหญ่ที่ลอนดอนได้ยืนยันอันดับเครดิตสำหรับสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารเอเชียไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ธนาคารเอเชียมีอันดับเครดิตสำหรับสกุลเงินต่างประเทศสูงสุดในกลุ่มธนาคารในประเทศไทย
การให้อันดับเครดิตครั้งนี้ ฟิทช์ได้ให้น้ำหนักกับความเป็นไปได้ในระดับสูงที่บริษัทแม่ของธนาคารเอเชียซึ่งก็คือธนาคาร เอบีเอ็น แอมโร เอ็นวี จะให้การสนับสนุนกับธนาคารเอเชีย ซึ่งได้ให้การสนับสนุนกับการเพิ่มทุนในครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนธันวาคม 2543 ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร เป็นผู้ถือหุ้นหลักจำนวน 78% ของธนาคารเอเชีย และมีอำนาจในการตัดสินใจและมีส่วนร่วมอย่างสูงในการบริหารของธนาคารเอเชีย ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเอเชียประกอบด้วยผู้บริหารจากธนาคารเอบีเอ็น แอมโร (ซึ่งทำหน้าที่บริหารในส่วนบริหารความเสี่ยงและส่วนตรวจสอบ)และผู้บริหารฝ่ายไทย ธนาคารเอเชียดำเนินงานตามแบบอย่างของธนาคารเอบีเอ็น แอมโร และแนวทางด้านการตลาดได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับบริษัทแม่ ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร มีจุดประสงค์ให้ธนาคารเอเชียเป็นฐานในการพัฒนาตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มบริษัทขนาดเล็กในประเทศไทย ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ได้แสดงเจตจำนงว่าตราบใดที่ธนาคารเอบีเอ็น แอมโรยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารเอเชีย ธนาคารเอบีเอ็น แอมโรจะให้การสนับสนุนในทุกด้านรวมถึงการรักษาระดับเงินกองทุนของธนาคารเอเชียให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จากชื่อเสียงและฐานะทางการเงินของธนาคารเอบีเอ็น แอมโรซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตแบบสากลระยะยาวที่ระดับ AA และระยะสั้นที่ระดับ F1+ ฟิทช์เชื่อว่าธนาคารเอบีเอ็น แอมโรจะให้การสนับสนุนกับธนาคารเอเชีย ถ้ามีความจำเป็น
ผลประกอบการของธนาคารเอเชียได้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540-2542 ผลขาดทุนของธนาคารได้ลดลงจาก 11.2 พันล้านในปี 2542 มาเป็น 4.1 พันล้านในปี 2543 ถึงแม้ว่าความสามารถในการทำกำไรนั้นได้ปรับตัวดีขึ้น แต่ความจำเป็นที่จะต้องมีการกันสำรองหนี้เสียจะส่งผลให้ผลประกอบการในปี 2544 ยังคงเป็นผลขาดทุนอยู่ ธนาคารเอเชียแสดงผลประกอบการขาดทุน 3.5 พันล้านในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2544 เนื่องจากธนาคารได้กันสำรองหนี้เสียเป็นจำนวนมาก แม้ว่าภาพรวมระยะกลางของธนาคารยังคงเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกแต่ภาพรวมของเศรษฐกิจนั้นยังคงถดถอย อย่างไรก็ตามการที่ธนาคารจะได้โอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่วนหนึ่งมูลค่า 6 พันล้านบาท (มูลค่าหลังการหักสำรองแล้ว) ไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยของรัฐบาล รวมไปถึงการจัดการกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่องในปีนี้นั้นน่าจะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเอเชียลดลงจาก 25% ของมูลหนี้ทั้งหมด มาเป็น 15% ภายในสิ้นปีนี้ จำนวนเงินสำรองโดยรวมของธนาคารในขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 35% ของมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในช่วงที่สูงที่สุด ฟิทช์คาดว่าธนาคารเอเชียจะกันสำรองเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต และเงินกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นน่าจะพอเพียงกับการกันสำรองเพิ่มเติมในปีนี้ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าธนาคารจะต้องมีการเพิ่มทุนอีกครั้งในปีหน้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับธนาคารเอเชีย
ติดต่อ: ดุษฎี ศรีชีวะชาติ; วินเซนต์ มิลตัน, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
เดวิด มาแชล, ฮ่องกง +852 2973 6293--จบ--
-อน-