ILCT: การซื้อขายบนอินเตอร์เน็ตกับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อทางอีเมล์

พฤหัส ๐๘ พฤศจิกายน ๒๐๐๑ ๐๙:๐๒
กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ศุภศักดิ์ จิรเสวีนุประพันธ์
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
เมื่อกล่าวถึงการทำธุรกิจ แน่นอนครับ สิ่งที่ผู้ประกอบการทั่วไปต้องการคือ "กำไร และผลตอบแทน" ในธุรกิจ E-Commerce ก็เช่นกัน เมื่อมีกำไรและผลตอบแทน สิ่งที่ตามมาและหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง ปัญหาที่ผู้ประกอบกิจการ E-Commerce ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ B to B, B to C หรือ C to C ต้องเผชิญ คือ "ปัญหาการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม" ครับ โดยเฉพาะในกรณีเว็บไซท์ที่ขายสินค้าหรือให้บริการแก่คนทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก ผู้ประกอบการเจ้าของเว็บไซท์ดังกล่าวจะออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าของตนอย่างไร และหน้าที่ในการออกใบกำกับภาษีเป็นอย่างไร วันนี้ ผมจะไขข้อข้องใจดังกล่าวกันครับ
ก่อนอื่น คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นการเก็บภาษีทางอ้อมโดยเรียกเก็บจากผู้บริโภคจากการซื้อขายสินค้าและบริการในอัตราร้อยละ 7 ของราคาสินค้าและบริการ
หลักเกณฑ์ทั่วไปที่จะกำหนดว่าท่านอยู่ในระบบที่ต้องจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็คือ หากธุรกิจหรือกิจการของท่านมีรายได้เกิน 1,200,000 บาทต่อปี หรือไม่ได้อยู่ในธุรกิจที่เป็นข้อยกเว้น ท่านต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยจดทะเบียนกับกรมสรรพากรให้ถูกต้องผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อและผู้รับบริการโดยความรับผิดในการออกใบกำกับภาษีมีดังนี้
ก) การขายสินค้า โดยปกติหน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า หรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษี เกิดขึ้นก่อนก็ให้ถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น เว็บไซท์ ebannok.com ซึ่งขายสินค้าพื้นเมืองของไทย หากนาย ก. เข้ามาซื้อสินค้าในเว็บไซท์ ดังกล่าว โดยปกติเจ้าของเว็บไซท์ ebannok.com ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ นาย ก. เมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่ นาย ก. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า หรือนาย ก. ได้ชำระราคาสินค้า หรือเว็บไซท์ ebannok.com ได้ออกใบกำกับภาษีก่อนการส่งมอบสินค้า
ข) การให้บริการ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการ โดยหลักทั่วไปจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการ เว้นแต่ผู้ประกอบการได้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้รับบริการได้ใช้บริการ ความรับผิดทางภาษีก็จะเกิดขึ้นทันที
ตัวอย่างเช่น เว็บไซท์ nokia.com ให้บริการดาวน์โหลดรูปการ์ตูนลงในมือถือ โดยปกติความรับผิดในการออกใบกำกับภาษีก็จะเกิดขึ้นเมื่อมีการจ่ายค่าบริการ เว้นแต่มีการใช้บริการหรือออกใบกำกับภาษีก่อน
หลักดังกล่าวข้างต้นจะใช้กับการชำระเงินตามปกติ แต่หากชำระโดยใช้บัตรเครดิตก็จะเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ว่าด้วยความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มในบางกรณี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
"ข้อ 4 การขายสินค้าโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกันให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
(1) โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
(2) เมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต หรือ
(3) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
ข้อ 5 การให้บริการโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิตหรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต เว้นแต่กรณีที่ได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นได้มีการออกใบกำกับภาษีนั้น"
เหตุที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องเนื่องจากประมวลรัษฎากรมาตรา 89/1 ระบุว่า หากบุคคลใดชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกอบการดังกล่าวต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเบี้ยปรับ ดังนั้น ท่านลองคิดดูสิครับว่า หากการซื้อขายสินค้าของท่านได้กำไรเดือนละ 10,000 บาท โดยที่ออกใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง ท่านจะเจอเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเท่าใด นั่นคือสาเหตุที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงกังวลเกี่ยวกับปัญหาการออกใบกำกับภาษี
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เว็บไซท์ส่วนใหญ่จะได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการทันที โดยมีการระบุหมายเลขบัตรเครดิต ดังนั้น ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าของตนทันทีหรือไม่ และหากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเข้ามาทำรายการซื้อขายในเวลาปิดทำการ วันหยุด หรือซื้อขายหรือรับบริการจากต่างประเทศ
ผู้ประกอบการจะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แก่ลูกค้าของตนอย่างไร
คำตอบก็คือ หากผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นกิจการขายปลีกหรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากนั้น ก็สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในรูปแบบของอีเมล์ส่งให้แก่ลูกค้าทางอินเตอร์เน็ตได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 86/6 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 32 และคำตอบหนังสือหารือของกรมสรรพกรที่ กค 0811/พ 04972 โดยกิจการที่ถือว่าเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการแก่บุคคลจำนวนมากต้องมีลักษณะดังนี้ คือ
(1) เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่า ขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและได้ขายในปริมาณที่ตามปกติวิสัยของผู้บริโภคจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป
(2) การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยและบุคคลจำนวนมาก
(3) ผู้ประกอบการตาม (1) และ(2) จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีให้มีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดดังนั้น พอถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านท่านใดที่ประกอบธุรกิจ E-Commerce ก็สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อโดยทางอีเมล์ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการท่านได้ครับ ปัญหาภาษีที่เกี่ยวกับธุรกิจ E-Commerce ยังมีอีกมากครับ แม้ว่าปัจจุบันกรมสรรพากรจะได้เริ่มพัฒนาให้มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นแบบ ภพ.30 ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2544 ก็ตาม ซึ่งในโอกาสหน้าผมจะมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO