กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้กล่าวถึงระบบการจดทะเบียนชื่อโดเมนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น .com .org .co.th หรือ ชื่อโดเมนลูกผสม เช่น คำว่า สวัสดี.com ในอาทิตย์นี้เราจะมาพูดกันถึงปัญหาข้อพิพาทที่เกิดจากการจดทะเบียนชื่อโดเมน ซึ่งผมขอแบ่งปัญหาข้อพิพาทเรื่องชื่อโดเมนออกเป็น 5 ปัญหาใหญ่ๆ คือ
1. ปัญหา Cybersquatter และ Parasite ปัญหา Cybersquatter นั้น คือ การจดทะเบียนชื่อโดเมนโดยการนำเอาชื่อบุคคล ชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงของผู้อื่นไปจดทะเบียนชื่อโดเมน และนำมาขายคืนแก่เจ้าของชื่อดังกล่าวโดยมิชอบ เช่น กรณีชื่อโดเมน amazingthailand.com, juliarobert.com, madonna.com เป็นต้น ส่วนกรณี Parasite นั้น เป็นการจดชื่อโดเมนที่คล้ายคลึงกับชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง เช่น ชื่อโดเมน wallstreetjounal.com (ไม่มีตัวอักษร r) หรือ newyorktimes.com เป็นต้น
2. ปัญหา Twins คือ ปัญหาการจดทะเบียนชื่อโดเมนที่เหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น โดยที่ผู้ที่ยื่นจดชื่อโดเมนก็ไม่ได้มีเจตนาไม่สุจริต เนื่องจากชื่อเครื่องหมายแต่ละชื่ออาจมีเจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายราย และใช้กับสินค้าหรือบริการคนละประเภท เช่น กรณีพิพาทของชื่อโดเมน prince.com (บริษัทอังกฤษที่ให้บริการด้านเทคโนโลยี) และ princetennis.com (บริษัทอเมริกันผู้ผลิตไม้เทนนิส Prince) เป็นต้น
3. ปัญหา Metatags คือ การนำเอาชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้เป็นคำสำคัญ (Key Word) เพื่อใช้ในการค้นหาข้อมูลในเว็บไซท์ของตนเอง เช่นกรณีของเว็บไซท์ playboy ที่ยื่นเว็บไซท์ Search Engine แห่งหนึ่งว่านำเอาคำว่า "playboy" ไปใช้เป็นคำสำคัญในการสืบค้นโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. ปัญหา Mousetrapping คือ การจดทะเบียนชื่อโดเมนที่คล้ายคลึงกับชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง คล้ายกับกรณี Parasite โดยเมื่อผู้ใช้บริการบนอินเตอร์เน็ตเข้าใจผิดโดยเมื่อเข้าไปในเว็บไซท์ดังกล่าวแล้วก็ไม่สามารถออกจากเว็บไซท์ดังกล่าวได้ เว้นแต่ผู้ใช้บริการรายนั้นต้องกดปุ่มยอมรับรายละเอียดของโฆษณา (Banner) ที่ใช้โปรแกรมวินโดว์ ป๊อปอัพขึ้นมาก่อน
5. ปัญหา Web Rings คือ การจดทะเบียนชื่อโดเมนที่คล้ายคลึงกับชื่อทางการค้าของบุคคลอื่น และมีการเชื่อมต่อไปยังเว็บไซท์อื่นๆ ภายในเครือของตน
จากปัญหาดังกล่าว ผมคงต้องเรียนท่านผู้อ่านตามตรงว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับกับข้อพิพาทในเรื่องชื่อโดเมนโดยเฉพาะ ดังนั้น หากมีบุคคลอื่นนำเอาชื่อทางการค้า ชื่อบุคคล หรือชื่อเครื่องหมายการค้าของท่านไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ การดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวก็คงต้องใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบัน คือ
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ว่าด้วยเรื่องชื่อบุคคลและชื่อนิติบุคคล ซึ่งระบุว่า มาตรา 18 สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้น ถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นก็ต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
มาตรา 67 ภายใต้บังคับมาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
จากข้อกฎหมายดังกล่าว หากมี Cybersquatter รายใดนำเอาชื่อบุคคล ชื่อนิติบุคคล หรือชื่อทางการค้าของท่านไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบโดยนำไปจดทะเบียนชื่อโดเมนและก่อให้เกิดความเสียหาย ท่านอาจดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลห้ามมิให้ Cybersquatter รายดังกล่าวใช้ชื่อโดเมนที่คล้ายกับชื่อบุคคล นิติบุคคลของท่านหรืออาจเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมในความผิดฐานละเมิดได้
2. ประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดทางการค้า ซึ่งระบุว่า
มาตรา 272 ผู้ใด
(1) เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อใช้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น
มาตรา 273 ผู้ใดปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายใน หรือนอกราชอาณาจักรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 274 ผู้ใดเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดตามกฎหมายอาญาฐานนี้ เรียกเป็นภาษากฎหมายว่า "ความผิดฐานลวงขาย (Passing-Off)" ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของความผิดนี้คือ การใช้ชื่อรูปรอยประดิษฐ์ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาเป็นชื่อโดเมนนั้น ต้องทำให้เกิดความสับสนหลงผิดในหมู่ประชาชนทั่วไป เช่น นาย ก. นำชื่อทางการค้าคำว่า pepsi ไปจดทะเบียนชื่อโดเมนเป็นคำว่า pepsi.com และใช้กับสินค้าและบริการเกี่ยวกับเครื่องดื่มเช่นเดียวกัน กรณีนี้อาจถือได้ว่า นาย ก. อาจมีความผิดฐานลวงขายได้
ความผิดดังกล่าวนี้ จะปรับใช้กับกรณีชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหากชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนแล้ว ท่านในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้า ก็มีสิทธิดำเนินคดีกับ Cybersquatter ในความผิดฐานปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้
ในครั้งหน้าเราจะมาคุยถึงรายละเอียดในข้อกฎหมายกับวิธีการดำเนินคดีกันต่อครับ--จบ--
-อน-