กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
5 เครือข่ายธุรกิจชุมชนได้รับเงินกว่า 14 ล้านบาท จากกองทุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่ใช้เงินจากโครงการ มพช.ในการจัดตั้ง ส่งผลประชาชนจำนวน 3,183 คน ได้รับประโยชน์เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ ขจัดปัญหาความยากจนด้วยตนเอง
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) เปิดเผยความคืบหน้าในการใช้เงินกองทุนพัฒนาสินเชื่อ ที่อยู่ภายใต้โครงการมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) ว่า กองทุนฯได้อนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือข่ายชุมชนไปแล้วเป็นจำนวนถึง 14.3 ล้านบาท
สำหรับโครงการของเครือข่ายธุรกิจชุมชนที่ได้รับการอนุมัติในครั้งนี้ประกอบด้วย โครงการของชมรมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนส่วนกลาง โดยขอใช้สินเชื่อเพื่อการเช่าแผงในตลาดคลองเตย ให้กับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในวงเงินสินเชื่อ 5 ล้านบาท โครงการเพื่อสร้างอาชีพ เพื่อดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันของเครือข่ายธุรกิจใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดพะเยา ขอใช้วงเงิน 3 ล้านบาท จังหวัดชัยภูมิได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวน 5 ล้านบาท และบริษัทเครือข่ายชุมชนพัฒนา จำกัด จำนวน 1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติสินเชื่อจำนวน 345,000 บาท ให้กับเครือข่ายหลักสี่-ดอนเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ในการขอกู้ เพื่อนำไปชำระหนี้นอกระบบ
จากการอนุมัติเงินจากกองทุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาในงวดแรกนี้ มีประชาชนได้รับประโยชน์จากสินเชื่อดังกล่าวจำนวน 3,183 คน จาก 229 องค์กร โดยจำนวนเงินดังกล่าวประชาชนผู้รับประโยชน์สามารถนำไปใช้เป็นเงินลงทุน เพื่อประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ และอีกส่วนหนึ่งขอใช้สินเชื่อเพื่อชำระหนี้นอกระบบ
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ในการขอใช้เงินจากกองทุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนานั้น 1.จะต้องเป็นโครงการที่มาจากการเสนอของสมาชิก 2.ต้องมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการ 3.โครงการที่ขอใช้สินเชื่อต้องชัดเจนทำได้ 4.มีเงินค้ำประกัน 5%โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายร่วมเป็นผู้ค้ำประกัน
"หลักเกณฑ์การให้กู้ภายใต้กองทุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนา จะเป็นการเปิดกว้างให้กับเครือข่ายธุรกิจชุมชนที่จะเสนอขอใช้วงเงินเข้ามา แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า "ทำอย่างไร ให้ชุมชนดีขึ้น นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนได้" ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกิดกระบวนการคิด กระบวนการเลือกสรร และกระบวนการตรวจสอบ ที่มาจากความต้องการของชาวบ้านหรือสมาชิกในเครือข่ายธุรกิจชุมชนอย่างแท้จริง" ผู้อำนวยการ พอช. กล่าว
กระนั้นก็ตาม เป้าหมายหลักของ พอช. ในการผลักดันให้มีการใช้เงินจากกองทุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาอย่างสัมฤทธิ์ผลนั้น ไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่ชุมชนมากนัก แต่จะเป็นการเชื่อมโยงชุมชนเข้ามาเป็นเครือข่าย แล้วค่อยสร้างโครงการ ที่อาจจะมาจาก 10-20 หมู่บ้านเป็น 1 โครงการ เพราะเป้าหมายที่แท้จริง คือ การพัฒนากลไกที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน
"ที่เราต้องทำอย่างนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างระบบในการคิดด้วยกันระหว่างชุมชน หากแยกกันคิด ต่างคนต่างทำนั้นเป็นจุดที่อันตราย เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามสร้างความสมดุลด้านการจัดการ โดยจะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะการใช้เงินจากกองกลางนี้ จะต้องเกิดขึ้นจากเครือข่าย รวมถึงการตรวจสอบก็อยู่ในวงนี้ด้วย จึงเท่ากับว่าเป็นการเชื่อมโยงคนให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันได้อย่างอัตโนมัติ และเป็นการแก้ไขความยากจนด้วยตัวเอง" ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวในท้ายสุด
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
โทร. 0-22279-8001 / 0-22797937 หรือ 0-2616-2214-5--จบ--
-อน-
- พ.ย. ๒๕๖๗ 8 SE ร่วมนำเสนอแผนธุรกิจใน SET Social Impact GYM 2023: Pitching Day
- พ.ย. ๒๕๖๗ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับพันธมิตร เปิดโครงการ SET Social Impact GYM 2023
- พ.ย. ๒๕๖๗ มูลนิธิทีทีบี และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ ด้านการ "พัฒนาขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคตะวันออก"