กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--ททท.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สานสัมพันธ์เส้นทางสายไหมสู่บุรีรัมย์จัดมหกรรมว่าวอีสานสุดยอดว่าวยักษ์แห่งปีดีเดย์ 28-29 ธันวาคม 2544 เตรียมตบมือรับนักท่องเที่ยวเยือนถิ่นภูเขาไฟส่งท้ายปีเก่า
นางสาวเอื้อมพร จิรกาลวิศัลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 เผยว่า ททท.จับมือกับจังหวัดบุรีรัมย์จัดมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ประจำปี 2544 ขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 ธันวาคม 2544 ณ สนามกีฬาอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ โดยงานประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 ททท.จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในจังหวัดบุรีรัมย์ จัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น สู่อนุชนรุ่นหลังและเป็นการต้อนรับปีท่องเที่ยว 2545 ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเยี่ยมเยือนจังหวัดบุรีรัมย์มากกว่าทุกปี อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของอีสานใต้มีแนวโน้มดีขึ้นจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นการสนองต่อนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
นางสาวเอื้อมพรฯ เผยต่อไปอีกว่า ประเทศไทยนิยมเล่นว่าวมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการเล่นว่าวกันที่ท้องสนามหลวงและทุกภาคของประเทศ สำหรับภาคอีสานนั้น ว่าวที่นิยมเล่นกันมากได้แก่ ว่าวแอกหรือว่าวดุ๊ยดุ่ย ที่ปลายของว่าวจะมีแอกติดอยู่ เวลาลอยอยู่บนฟ้าติดลมบนนานๆ จะได้ยินเสียงแอกดังไพเราะมากคล้ายเสียงดนตรีที่ขับกล่อมอยู่บนสรวงสวรรค์โดยในช่วงเดือน พฤศจิกายน-มกราคม จะมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือผัดผ่าน ชาวบุรีรัมย์นิยมผูกว่าวแอกไว้หน้าบ้าน ในเวลากลางคืนเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย หรือภูติผีปีศาจ ไม่ให้เข้ามาใกล้บ้านของตน และในสมัยโบราณชาวนาต้องออกจากบ้านไปทำลานเพื่อนวดข้าวในเวลากลางคืน จะเงียบสงัด เนื่องจากห่างไกลจากหมู่บ้าน ทำให้เงียบเหงาและหวาดกลัวได้ จึงนิยมผูกว่าวแอกในเวลาเย็นแล้วปล่อยให้ติดลมทิ้งไว้ตลอดคืนเพื่อฟังเสียงอันไพเราะ ขับกล่อมตลอดเวลาที่นอนเฝ้าข้าว จังหวัดบุรีรัมย์จึงได้เริ่มจัดงานมหกรรมว่าวอีสานขึ้นตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักเล่นว่าวนำว่าวมาแข่งขันเป็นจำนวจมาก นอกจากนั้นยังมีสมาคมว่าวจากประเทศต่างๆ ที่สนใจมาร่วมแข่งขันอีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับกิจกรรมของงานมหกรรมว่าวฯ ในปีนี้ ได้จัดให้มีการแข่งขันว่าวประเภทต่างๆ ได้แก่ ประเภทประชาชน ส่วนราชการ และองค์กรต่างๆ มีการประกวดว่าว 4 ชนิด คือ ว่าวแอกโบราณ ว่าวแอกพัฒนา ว่าวแอกยักษ์ และแอก ส่วนประเภทนักเรียน นักศึกษา มีการประกวดว่าว 2 ชนิด คือ ว่าวประดิษฐ์เชิงนวตกรรม (ไฮเทค) และว่างประดิษฐ์เชิงศิลปะ โดยมุ่งเน้นเรื่องการต่อต้านยาเสพติด ผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัล พร้อมถ้วยเกียรติยศ นอกจากนี้ภายในงานได้จัดให้มีการประกวดไก่ โค กระบือ พันธุ์พื้นเมือง การประกวดขับร้องเพลงลูกทุ่งเสียงทอง การแสดงศิลปินพื้นบ้านอีสานใต้ และมหรสพตลอดคืน สำหรับพิธีเปิดงานฯ ได้มีการนำว่าวยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและว่าวยักษ์จากประเทศต่างๆ ขึ้นสู่ท้องฟ้า ตระการตาประกอบกับเสียงแอกที่ไพเราะเสนาะหู ขับกล่อมบทเพลงจากสรวงสวรรค์สู่พื้นโลกที่นักท่องเที่ยวสามารถหาชมและฟังได้แห่งเดียวในโลกที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพียงปีละครั้ง เท่านั้น จึงไม่ควรพลาดถือเป็นรางวัลโบนัสให้กับชีวิตส่งท้ายปีเก่า สนใจสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 โทรศัพท์ (044) 213666, 213030 หรือ 351722 ทุกวันในเวลาราชการ--จบ--
-นห-