ปาฐกถา
เรื่อง "Trade and Economic Policy of The New Administration ”
โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอดิศัย โพธารามิก)
วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2544
ณ โรงแรมแกรน ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ
------------------------
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมมีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงของสมาชิกหอการค้าไทย-ฟินแลนด์ ในวันนี้ และผมจะขอใช้โอกาสนี้กล่าวถึงแนวนโยบายเศรษฐกิจและการค้าไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่ระบบเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีประเด็นสำคัญ 2-3 ประเด็นที่อยากจะเรียนให้ทราบ
ประเด็นแรก ผมคงจะกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตว่าเป็นอย่างไร
หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงถึงจุดต่ำสุดในปี 2541 รัฐบาลได้พยายามเร่งแก้ไขวิกฤตในทุกวิถีทางจนเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2542 ต่อเนื่องถึงปี 2543 โดยเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.2 และ 4.3 ตามลำดับ ซึ่งในปี 2543 เป็นการขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี และชะลอตัวลงเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจหลายปัจจัยด้วยกัน ที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่สาม และมีความรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายจนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย นอกจากนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ความซบเซาของตลาดหลักทรัพย์ ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว และข้าวโพด ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ล้วนแต่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2543 และเริ่มเป็นสัญญาณเตือนถึงข้อจำกัดของการฟื้นตัวในปี 2544
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้นั้น จากการที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ เพราะการหดตัวของการส่งออกที่ได้รับผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการผลิต การลงทุน และการใช้จ่ายภาคเอกชน แต่ยังมีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การดำเนินมาตรการของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งโดยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2544 บางส่วนใหม่ เพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลตัวคูณทวี (Multiplier effect) มากขึ้น เช่นการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งละ 1 ล้านบาท การพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี การสร้างหลักประกันสุขภาพโดยการเสียค่ารักษาพยาบาล 30 บาทต่อครั้ง เป็นต้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณปี 2545 ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2544 จะมีผลช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง จึงคาดว่า ปี 2544 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.5 - 4.0
ประเด็นที่สองที่จะกล่าวถึง คือ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลภายใต้การบริหารแบบคิดใหม่ทำใหม่ เมื่อรัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลมีมุมมองเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็น 2 ระดับ คือ ระดับแรก ตั้งประเด็นไว้ว่าทำอย่างไรจึงจะฉุดให้ประเทศพ้นจากภาวะวิกฤต ระดับที่สอง คือ เมื่อเศรษฐกิจไทยพ้นจากวิกฤตแล้วจะสามารถก้าวทันประเทศอื่น ๆ ได้อย่างไร ดังนั้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะนำไปสู่ความมีเสถียรภาพและความมั่นคงอันยั่งยืนของประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการพาณิชย์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศไว้ ดังนี้
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจ
นโยบายด้านการคลัง
(1) เร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลต่อการยกระดับรายได้ของประชาชนและหยุดการทรุดตัวทางเศรษฐกิจ โดยคงภาวะการขาดดุลการคลังต่อไปอีกระยะหนึ่ง และรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและวินัยการคลังที่เหมาะสม โดยจะปรับนโยบายการคลังให้เข้าสู่การคลังที่สมดุล เมื่อเศรษฐกิจสามารถขยายตัวขึ้นมารองรับได้อย่างเพียงพอ
(2) ปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริงที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ และเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งสนับสนุนการออม การระดมทุน และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ทั้งนี้ จะปรับโครงสร้างภาษีอากร จัดทำแผนภาษีและวางระบบการจัดเก็บที่ประหยัด สะดวก และโปร่งใส สำหรับผู้เสียภาษี โดยเฉพาะจะขจัดการตีความซ้ำซ้อน ลดอำนาจผู้จัดเก็บ สร้างความชัดเจน และโปร่งใส เพื่อขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง
(3) บริหารการคลังอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะการรักษาวินัยการคลังในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จะจัดทำแผนการบริหารทรัพย์สินและหนี้สินสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และจะกู้เงินเฉพาะเพื่อการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างฐานรายได้ให้แก่ประชาชน และภาคเอกชนเป็นหลัก รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน
นโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และตลาดทุน
(1) ดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อให้เกิดการขยายตัวของภาคธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ส่งเสริมการออมของประชาชนและสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการคลังและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
(2) ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการสร้างรายได้ของประชาชนทุกระดับ และเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถส่งเสริมภาคการผลิตและบริการที่พึ่งพาทรัพยากรในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
(3) เร่งพัฒนาและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของประเทศให้สามารถทำหน้าที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ตามปกติ โดยก่อภาระด้านการเงินการคลังให้น้อยที่สุด รวมทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินในระยะยาว ตลอดจนมุ่งพัฒนาและปรับบทบาทสถาบันการเงินของรัฐ ให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมกิจการที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้อย่างเร่งด่วน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
(4) เร่งพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการระดมทุนและส่งเสริมการออมระยะยาวของภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนจัดโครงสร้างภาษีอากรให้สอดคล้องและเสมอภาค รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจที่ดีและมีศักยภาพสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดเงินและตลาดทุนได้อย่างเต็มที่
(5) เร่งพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เพื่อสร้างทางเลือกและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินของภาคเอกชน และสร้างความเสมอภาคระหว่างตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และเงินฝากในสถาบันการเงิน เพื่อพัฒนาภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมการออมและการลงทุนที่หลากหลายแก่ประชาชนในระยะยาว
การบริหารนโยบายการพาณิชย์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะยกระดับนโยบายด้านการค้าต่างประเทศจากการเน้นเพียงเร่งรัดการส่งออกในทุกระดับสู่การพัฒนาเครือข่ายการตลาดเข้าสู่ระดับโลก และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันการณ์ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยผนึกและสอดรับเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอันเข้มแข็งในโลกยุคไร้พรมแดน โดยมีแนวทางดังนี้
ด้านการพาณิชย์
(1) สนับสนุนและผลักดันให้ภาคเอกชนยกระดับความพร้อมในการเผชิญการแข่งขันเสรีในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้แนวคิดการตลาดสมัยใหม่ การพัฒนาองค์กรและบุคลากร
การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การวางแผนและพัฒนาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการจำหน่วยให้ได้ประโยชน์สูงสุดในเชิงต้นทุนและการตลาด ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในเชิงของทักษะ เทคโนโลยี และวิทยาการที่จำเป็นในการแข่งขันระดับโลก
(2) พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าสินค้าและบริการในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการแสดงสินค้าระหว่างประเทศ
(3) ส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดโลก โดยเร่งผลักดันการออกมาตรการและกฎหมายที่จำเป็นต่อการประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(4) เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกทั้งในด้านการตลาด และข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนช่วยแก้ไขอุปสรรคการค้าในต่างประเทศ
ด้านการค้าสินค้าและบริการ
(1) ส่งเสริมให้กิจการของไทยสามารถครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาที่มาจากแหล่งอื่น แล้วนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สามารถทำการผลิตที่มีความหลากหลายกว่าของเดิม และส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนเพื่อเปิดโอกาสให้นักคิดและผู้ประกอบการไทยพัฒนาภูมิปัญญาไทยเข้าสู่ระบบการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย
(2) ส่งเสริมให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถดำรงอยู่ และปรับตัวรองรับการแข่งขันการเปิดเสรีด้านการค้าบริการได้
(3) กำหนดมาตรการให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเทศบัญญัติที่ว่าด้วยการแบ่งเขตสถานที่ของธุรกิจค้าปลีกในอนาคต
(4) จะส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคและยกระดับผลผลิตและบริการของประเทศ
ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
(1) สนับสนุนการค้าเสรีในการค้าระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงระดับความพร้อมและผลประโยชน์ของประเทศและผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งผลักดันการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนไทยในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ
(2) เน้นบทบาทเชิงรุกในเวทีการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์และข้อจำกัดของประเทศกำลังพัฒนา
(3) สนับสนุนและผลักดันนโยบายการค้าเสรีของเขตการค้าเสรีอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน และการค้าชายแดน และการพัฒนาไปสู่ฐานการผลิตสินค้าหรือการให้บริการร่วมกันในภูมิภาค
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลด้านการค้าและการลงทุน และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎข้อบังคับทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ของนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ผมจะเรียนย้ำให้ทุกท่านเข้าใจ คือ ประเทศไทยยังคงยึดมั่นในนโยบายเศรษฐกิจการค้าเสรีและเปิดกว้างรับนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะแก้ไขอุปสรรคด้านกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการลงทุนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว และโปร่งใสมากขึ้น รัฐบาลมิได้มีนโยบายปิดประเทศหรือไม่ยินดีรับนักลงทุนต่างชาติ ตามที่มีกระแสข่าวออกมาในขณะนี้
การที่รัฐบาลได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการลงทุนเมื่อปลายเดือนที่แล้วนั้นเพื่อต้องการเสริมสร้างตัวเองให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขันในเวทีโลก หากเราไม่เข้มแข็งในภาวะที่โลกมีการค้าเสรีและแข่งขันกันอย่างรุนแรง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่เสริมกำลังตัวเองให้เข้มแข็ง ประเทศไทยจะต่อสู้กับต่างประเทศไม่ได้ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นแนวทางการบริหารนโยบายของรัฐบาลในยุคใหม่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 281-9723, 282-6171-9 : 1176-7 โทรสาร. 82-6623--จบ--