กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จับมือมูลนิธิศึกษาพัฒน์, มูลนิธิไทยคมและ The Media Lab of Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา เปิดโรงเรียน "E-School" โรงเรียนที่ไม่ใช่โรงสอน รับสมัครเด็ก ป.1- ป.2 เป็นปีแรก วางแผนขยายถึง ม.6. เน้นเตรียมการศึกษาแนวใหม่ให้เยาวชนของชาติเพื่อเข้าสู่โลกยุค New Economy
นาย พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มจธ. โดยความร่วมมือกับมูลนิธิศึกษาพัฒน์ มูลนิธิไทยคม และ MIT จากสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดโรงเรียนแนวใหม่ภายใต้รั้ว มจธ. ซึ่งเรียกว่า E-School เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนว พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตนไปพร้อมๆกัน ทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และความคล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
นายพารณกล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมจนถึงมัธยมไม่ได้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ใช้การท่องจำเป็นหัวใจหลักในการสอนเด็กทำให้คุณภาพของคนที่จบการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เด็กไม่สามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการท่องจำมาใช้ได้ทั้งหมด สะท้อนถึงความล้มเหลวทางการศึกษา
โรงเรียน E-School แห่งนี้ถือเป็นโรงเรียนต้นแบบที่มีแนวทางการศึกษาผสมผสานระหว่างการศึกษาวิจัยด้านกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและบทบาทของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการพัฒนาการศึกษากว่า 20 ปี ของ MIT กับประสบการณ์ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ มูลนิธิไทยคมที่นำแนวคิดแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมาใช้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย ชาวบ้านในชนบท และบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากว่า 3 ปี
"การที่โลกยุคหน้าเป็นโลกของดิจิตอลเต็มรูปแบบ ถ้าเด็กไทยยังอยู่กับท่องจำจากหนังสือเป็นหลักจะลำบาก การที่เด็กสามารถคิดเป็นทำเป็นได้ด้วยตัวเอง เป็นการเรียนรู้ที่ถ่องแท้ด้วยตัวเอง เด็กจะมีความมั่นใจ กล้าคิดกล้าทำ หรือที่เรียกว่า Learner Learning เมื่อโตขึ้นเขาจะทำงานที่ไหนก็ได้ไม่จำกัดว่าต้องภายในประเทศ แต่จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลก" นายพารณกล่าว
โรงเรียน E-School แห่งนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 5-8 ปี เพื่อเข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 สำหรับปีแรกและจะขยายไปถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภายในระยะเวลา 6 ปี โดยกำหนดอัตราส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียน 4 คน เพื่อให้ครูสามารถทุ่มเทเวลาให้กับผู้เรียนโดยเฝ้าดูและติดตามพัฒนาการทั้งพฤติกรรมและจิตใจเป็นรายบุคคล ซึ่งครูจะต้องทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ
ในส่วนของการเรียนจะไม่แยกวิชาต่างๆ ออกจากกันอย่างชัดเจนเหมือนหลักสูตรดั้งเดิม แต่จะจัดเป็น กิจกรรมให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาความรู้ตามความสนใจ และได้ลงมือปฏิบัติจริง ด้วยวิธีการนี้นักเรียนจะได้ความรู้อย่างมีความหมายสอดคล้องกับประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวัน สามารถเรียนรู้ว่าความรู้เหล่านั้นแบ่งแยกเป็นสาขาวิชาอย่างไร เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และศิลปศาสตร์ และวิชาเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างไร
สำหรับภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีจะถูกสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันของโรงเรียน เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถนำมาช่วยคิดจำลองปรากฏการณ์ในรูปแบบไดนามิก ซึ่งช่วยให้สามารถคิดและมองสิ่งต่างๆ ในมุมใหม่ ที่ทำได้ยากถ้าใช้เครื่องมืออื่น
การเรียนรู้แนวนี้ จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ก่อให้เกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเองในการค้นคว้าข้อมูล คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหา สามารถนำกระบวนการเรียนรู้ที่ได้ไปใช้ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต สามารถดำรงอยู่ในโลกยุค New Economy ที่กระแสโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทอย่างมาก โดยที่ไม่ทิ้ง จริยธรรมและวัฒนธรรมไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด
คุณวรรณี ลีลาเวชบุตร,คุณลัคคณา ขวัญงาม
คุณกัลยารัตน์ แสนปัญญา,คุณสมบูรณ์ แซ่โค้ว
โทร.861-0881-5 ต่อ 17-20 โทรสาร 438-4427--จบ--
-อน-
- พ.ย. ๖๖๔๗ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกับ มูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับพนักงานที่ผ่านการอบรมโครงการทักษะวิศวกรรมเคมีแบบ บูรณาการ (C-ChEPS) รุ่นที่ 20
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ยามาฮ่ารับรางวัล PMAT HR AWARDS 2016
- พ.ย. ๒๕๖๗ “มูลนิธิศึกษาพัฒน์” เตรียมขยายผล “การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา” เปิดเวทีโชว์ความสำเร็จการพัฒนา “เด็ก-ชุมชน-ธุรกิจ” ด้วย “Constructionism”