รองผู้ว่าฯประพันธ์ ตรวจเยี่ยมสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เขตประเวศ

จันทร์ ๒๕ กันยายน ๒๐๐๐ ๑๐:๔๒
กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--กทม.
เมื่อวันที่ 22 ก.ย.43 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (ประเวศ) หรือ บ้านพิชิตใจ โดยมี นพ.ปิยเมธิ ยอดเณร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พญ.สุวณี รักธรรม ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นพ.บุญรอด ประสิทธิผล ผู้อำนวยการกองป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (ประเวศ) เกิดขึ้นเนื่องจาก คุณหญิงหรั่ง กันตารัต ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 84 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา บริเวณคลองตาพุด ถนนอ่อนนุช แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สำหรับก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์เป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ยังไม่ได้ดำเนินการนั้น สำนักอนามัยโดยกองป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด ได้ขอใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ส่วนหนึ่ง ประมาณ 35 ไร่ เพื่อสร้างสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แบบผู้ป่วยนอกในปี 2528 ต่อมาในปี 2533 กองทุนควบคุมการใช้ยาในทางที่ผิดแห่งสหประชาชาติ (UNDEP) ได้ให้ความช่วยเหลือในการริเริ่มทดลองโครงการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและขยายงานด้านฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยพัฒนารูปแบบการฟื้นฟูให้เหมาะสมกับคนไทย และโครงการได้สิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2538 จากนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้เข้าดำเนินการสถานฟื้นฟูฯ ต่อด้วยงบประมาณของกรุงเทพมหานครเอง
สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เป็นสถานฟื้นฟูขนาดกลางที่สามารถรองรับผู้ป่วยเข้าพักค้างได้คราวละ 50 คน โดยที่ผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาฝึกอบรมฟื้นฟูสมรรถภาพในหลักสูตรของบ้านพิชิตใจ เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี
การดำเนินงานของสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 จนถึงปัจจุบัน มีผู้มาเข้ารับบริการทั้งหมด จำนวน 7,870 ราย โดยมีรูปแบบการให้บริการ 5 แบบ ได้แก่ 1. แบบพักค้าง ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี 2. แบบผู้ป่วยนอก มารับบริการให้คำปรึกษาเป็นครั้งคราว 3. ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด อาจเป็นญาติหรือผู้ป่วยเอง โดยโทรศัพท์มาสอบถาม 4. ผู้ติดยาเสพติดมาเข้าสถานฟื้นฟูฯ แต่ออกไประหว่างการรักษา แต่สถานฟื้นฟูจะติดตามผู้ป่วยเพื่อให้เลิกยาเสพติด และ 5. แบบกิจกรรมป้องกันการติดซ้ำโดยการใช้กลุ่มช่วยกันเอง ซึ่งเรียกว่า กลุ่ม Narcotics Anonymous-NA หรือกลุ่มผู้ติดยานิรนาม กลุ่มนี้จะได้ผลในการป้องกันการติดซ้ำมากที่สุด และในปัจจุบันได้แพร่หลายไปสู่หน่วยงานที่บำบัดการรักษายาเสพติดทั่วประเทศ โดยสถานฟื้นฟูฯ (ประเวศ) เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มและเป็นต้นแบบกิจกรรมป้องกันการติดซ้ำนี้ และด้วยเหตุที่สภาพปัจจุบันของสังคม ทั้งในสถานศึกษาและชุมชนทั่วไป มีเด็กที่ติดยาบ้าจำนวนมาก และบางรายได้รับการบำบัดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพปัญหาจึงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหายาบ้าที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ได้สำเร็จ และประกอบกับวิธีการบำบัดที่บ้านพิชิตใจใช้อยู่นี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการดูแลหลังการบำบัดรักษา (Aftercare) โดยการใช้กลุ่มช่วยกันเอง (Self-help group) ที่เรียกว่ากลุ่ม NA (กลุ่มผู้ติดยานิรนาม) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหายาเสพติด (NAS) ของสถานทูตสหรัฐอเมริกา และกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมและยกย่องในฐานะที่เป็นผู้รู้จักนำวิธีการที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อพัฒนาการบำบัดรักษาในประเทศ และได้ร่วมกันกำหนดโครงการพัฒนาและอบรมหลักสูตรการป้องกันและการบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมแฟตามีน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดรวมทั้งตัวแทนจากสำนักอนามัยและหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ รวม 7 หน่วยงาน เดินทางไปดูงานการักษาผู้ติดสารแอมแฟตามีนแบบผู้ป่วยนอกรูปแบบ Matrix Model ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากรูปแบบนี้มีสาระสำคัญที่จะต้องใช้กลุ่ม NA เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการบำบัดรักษา และกำหนดให้ทั้ง 7 หน่วยงานนี้ เริ่มเปิดให้บริการเป็นโครงการทดลองตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.43
จากนั้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปยังสถานที่บริเวณก่อสร้างโรงพยาบาลสิรินทร ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้ามากแล้ว กำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2545 หลังจากนั้นคณะรองผู้ว่าฯกทม. ได้ไปตรวจเยี่ยมศูนย์บริการสาธารณสุข 57 (บุญเรือง ล้ำเลิศ) เขตประเวศ และศูนย์บริการสาธารณสุข 8 (บุญรอด รุ่งเรือง) เขตบางนา
ทั้งนี้การตรวจเยี่ยมสถานที่ดังกล่าว เพื่อตรวจความพร้อมและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครด้านการแพทย์และอนามัย เนื่องจากโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน และด้วยความห่วงใยของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอบนอกได้มีสถานพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยเช่นเดียวกับในเมือง--จบ--
-นศ-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม