กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กทม.
นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้มีนโยบายพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และชุมชนแออัดในลักษณะโครงการตึกฝักข้าวโพด เพื่อจัดสร้างอาคารสำหรับรองรับชุมชนแออัดให้มีที่อยู่อาศัยถาวร ถูกสุขลักษณะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากเป็นนโยบายใหม่ของกทม. ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้ว่าราชการกทม. จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัย (โครงการตึกฝักข้าวโพด) เพื่อศึกษา พิจารณา และกำหนดแนวทางดำเนินโครงการตึกฝักข้าวโพด โดยมีผู้บริหารและข้าราชการกทม. ผู้แทนจากการเคหะแห่งชาติ ผู้แทนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ
ทั้งนี้ คณะกรรมการโครงการตึกฝักข้าวโพด ได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการพิจารณาพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด ได้แก่ 1.ขอเช่าพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เขตบางซื่อ จำนวน 40 ไร่ สร้างตึกฝักข้าวโพดเพื่อรองรับบ้านพักพนักงานรถไฟและชุมชนแออัด โดยบริเวณดังกล่าวสามารถสร้างสวนสาธารณะและจุดจอดรถพาร์คแอนด์ไรด์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ขนคนเข้าออกจากเมือง คือ รถไฟฟ้าฯ สถานีรถไฟบางซื่อ และรถโดยสารประจำทาง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สามารถทำตลาดและศูนย์การค้าได้ด้วย บริเวณดังกล่าวมีชุมชน 3 ชุมชน และบ้านพักรถไฟ 3 ตึก รวมประมาณ 1,000 ครอบครัว ซึ่งค่อนข้างแออัดมาก ส่วนพื้นที่ 40 ไร่ดังกล่าวนี้เป็นที่ว่าง ซึ่งผู้ว่าราชการกทม. กำลังเจรจาขอเช่าจากการรถไฟฯ
2. ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า ตระกูลดิษฐ์ เขตดุสิต รวม 200 ครอบครัว อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ ในความดูแลของกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้มอบที่ดินนี้ให้กับกทม.แล้ว ทางสำนักงานเขตดุสิตได้รับการเสนอจากชุมชนขอให้ใช้พื้นที่นี้ก่อสร้างตึกฝักข้าวโพด 3.พื้นที่โรงงานสุราบางยี่ขัน เขตบางพลัด เป็นที่ดินราชพัสดุ กรมโรงงานอุตสาหกรรมโอนให้กทม. มีเนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา แต่เนื่องจากที่ดินแปลงนี้ทางกทม.มีแผนแม่ของการใช้พื้นที่เพื่อทำด้านอื่น ๆ อยู่แล้ว คณะกรรมการฯ จึงให้ยกเลิกที่จะก่อสร้างตึกฝักข้าวโพดในที่ดินนี้ แต่จะพิจารณาหาพื้นที่อื่นต่อไป 4. ชุมชนเย็นอากาศ 2 มีชุมชนบุกรุกที่ดินของกรมธนารักษ์ เขตยานนาวา รวม 293 ครอบครัว ในพื้นที่ 9 ไร่เศษ เมื่อ 9 ก.ย.43 ที่ผ่านมาเกิดไฟไหม้ชุมชนดังกล่าว ขณะนี้กทม.ได้เข้าไปแก้ปัญหาชั่วคราวให้ชุมชนหลังเพลิงไหม้ ซึ่งชุมชนเรียกร้องให้จัดที่อยู่อาศัยใหม่ โดยมีรูปแบบเหมาะกับวิถีชีวิตของชุมชน มีที่เก็บของ ที่ค้าขาย และราคาไม่สูงนัก แต่เนื่องจากบริเวณนี้อยู่ในพื้นที่โซนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ พระราม 3 คณะกรรมการฯ จึงขอไปปรึกษาและศึกษาปัญหาร่วมกับสำนักผังเมืองก่อน
รองผู้ว่าราชการกทม. กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯ เห็นชอบในหลักการในการก่อสร้างตึกฝักข้าวโพดในพื้นที่ที่เสนอมา 3 จุด คือ พื้นที่การรถไฟ เขตบางซื่อ ชุมชนองค์การทอผ้า เขตดุสิต และชุมชนเย็นอากาศ 2 แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะจัดสร้างนั้น จะต้องมีการศึกษาปัญหาเพิ่มเติมก่อน เช่น พื้นที่ดังกล่าวมีแผนการใช้ที่ดินอยู่แล้วหรือไม่ ในอนาคตจะมีถนนหนทางตัดผ่านหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้การก่อสร้างนั้นยังต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้อยู่อย่างแท้จริง โดยการออกแบบอาคารและโครงการจะต้องสนองความต้องการของชุมชนมีที่ให้ค้าขาย เก็บของ รวมทั้งมีเคหะบริการให้ เช่น ตลาด ร้านค้า สถานเลี้ยงเด็กเล็ก ศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์สาธารณสุข ฯลฯ ที่สำคัญคือมีราคาไม่แพง อยู่ในระดับที่ชุมชนสามารถจ่ายได้ โดยไม่มีการเซ้งต่อในราคาแพงขึ้น และกลับไปบุกรุกชุมชนอื่นต่อไปอีก ทั้งนี้หากสามารถดำเนินโครงการฝักข้าวโพดใน 3 พื้นที่ดังกล่าวได้ ก็จะเป็นโครงการนำร่อง เพื่อขยายการดำเนินการไปยังชุมชนอื่น ๆ ทั่วกทม.ต่อไป--จบ--
-อน-