สวทช ร่วมกับ ไอบีเอ็ม เปิดศูนย์ e-Infrastructure Center ส่งเสริมนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระชาวไทยทะยานสู่ระดับอินเตอร์

พุธ ๑๙ กันยายน ๒๐๐๑ ๑๖:๔๗
กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ไอบีเอ็ม
ฯพณฯ สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดศูนย์ e-Infrastructure Center ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย(Software Park Thailand) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ร่วมกันจัดตั้ง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยได้มีโอกาสพัฒนาทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ของไอบีเอ็ม และเปิดโอกาสให้บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการ ISV หรือ Independent Software Vendor ของไอบีเอ็มและนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระบนพื้นฐานเทคโนโลยีของไอบีเอ็มสามารถทดสอบซอฟต์แวร์ของตนกับคอมพิวเตอร์หลากหลายแพลตฟอร์ม
นายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์พณฯ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทยจำกัด กล่าวว่า “ทางบริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการยกระดับความรู้และทักษะให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยเพื่อให้มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล ด้วยการสนับสนุนให้บุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระมีโอกาสเรียนรู้ ฝึกฝน และสร้างผลงานของตน เพื่อที่บุคลากรเหล่านี้จะได้เป็นกำลังสำคัญของชาติในการตอบรับกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ทางไอบีเอ็มจึงได้จัดตั้งศูนย์ e-InfrastructureCenter ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ Independent SoftwareVendor ของไอบีเอ็ม และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนเทคโนโลยีพื้นฐานของไอบีเอ็มให้มีโอกาสนำซอฟต์แวร์มาทดสอบการทำงานบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ภายในศูนย์”
นางเจษฎา ไกรสิงขรม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทยจำกัด กล่าวว่า “ศูนย์ e-Infrastructure Center ตอบสนองนโยบายของภาครัฐและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของไอบีเอ็ม ที่เน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์พื้นฐานทางอีบิสิเนสเพื่อการทำงานในระบบเปิด เมื่อพัฒนาครั้งหนึ่งแล้วสามารถทำงานได้ทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งศูนย์ e-Infrastructure Center นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยให้เข้ามาทดสอบแอพพลิเคชั่นของตนได้ ศูนย์ e-Infrastructure Center ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ตระกูล e-Server 4 เครื่อง ได้แก่ P-Series:RS/6000, I-Series:AS400 และ X-Series:Netfinity 2 เครื่องซึ่งติดตั้งระบบปฏิบัติการ Window NT และ Linux พร้อมซอฟต์แวร์ระบบที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอีบิสิเนสแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ อันประกอบไปด้วย IBM DB2, Informix, WebSphere, Lotus และ Tivoli เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ในปัจจุบันยังขาดปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้มาตรฐาน ไอบีเอ็มจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสให้แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์และช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยและซอฟต์แวร์ระดับโลกของไอบีเอ็ม จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศต่อไป”
นอกเหนือจากการเปิดศูนย์ e-Infrastructure Center แล้ว ไอบีเอ็มยังได้ร่วมกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยจัดตั้งโครงการ พัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับมืออาชีพ (Thai Software Developer Advancement) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรทางด้านซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และเสริมความแข็งแกร่งด้านไอทีของประเทศ ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการทำงานให้ผู้ผ่านการอบรม โดยโครงการจะพัฒนาบุคลากรในระดับผู้สอน “T3= TRAIN THE TRAINER ” โดยจะให้การอบรมความรู้ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับสูง รวมทั้งเสริมความรู้ด้านเทคนิคการถ่ายทอดความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการสอนให้มีประสิทธิภาพ
นางสุนิชา พงษ์ปริตรูนย์ ผู้จัดการแผนกฝึกอบรมและบริการระบบการเรียนการสอน บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริม “ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ในระดับผู้สอนที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ภาคการศึกษาและการฝึกอบรม และบุคลากรเหล่านี้จะสามารถช่วยผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยในเชิงปริมาณและคุณภาพเพิ่มเป็นทวีคูณ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศต่อไป”
ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า “ศูนย์ปฏิบัติการ e-Infrastructure Center แห่งนี้ นับเป็นศูนย์ที่ให้มูลค่าเพิ่มแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยอย่างแท้จริง เป็นการเปิดโอกาสให้บรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ได้พัฒนาทักษะ และความรู้ทางด้านเทคโนโลยีของตนเอง โดยได้ใช้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานระดับโลก และไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้สามารถขยายศักยภาพการทำงานบนเทคโนโลยีของไอบีเอ็มได้ทุกแพลตฟอร์มตามแนวคิด open platform ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจในการนำเสนอทางเลือกและบริการใหม่ๆ ด้านซอฟต์แวร์ได้เป็นอย่างดี”
ดร.รอม ยังกล่าวต่ออีกว่า “สำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับมืออาชีพนั้น ในเบื้องต้นจะเริ่มโดยการฝึกอบรมบุคลากรในระดับผู้สอน จำนวน 25 คน ใช้เวลาประมาณ 2เดือนครึ่ง เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฯจะทำการคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้สอนรุ่นใหม่และให้การฝึกอบรมอย่างเข้มข้นตามหลักสูตรของไอบีเอ็มเพื่อสร้างกลุ่มผู้สอนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงสามารถเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ของไทยให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณต่อไป”
ข้อมูลเกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศโดยเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่จริง เพื่อเป็นแหล่งรวมของบริษัทที่ทำการผลิต และพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ และเพื่อเป็นศูนย์รวมกิจกรรมด้านการบริการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา การพัฒนาบุคลากรและการยกระดับคุณภาพองค์กรซอฟต์แวร์ของไทยรวมถึงการตลาด การจัดคู่ธุรกิจ การช่วยประสานงานหาแหล่งเงินสนับสนุนทางการเงิน และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ที่เว็บไซต์http://www.swpark.or.th
ข้อมูลเกี่ยวกับไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มเป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยครองความเป็นผู้นำในการช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่มานานถึง 80 ปี ซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มมีแอพพลิเคชั่นในขอบข่ายที่กว้างที่สุด รวมทั้งมิดเดิลแวร์ และระบบปฏิบัติการสำหรับแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ทุกประเภทจึงทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากอีบิสิเนสยุคใหม่ได้อย่างเต็มที่ หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็มได้ที่เว็บไซต์ http://www.ibm.com
เผยแพร่โดย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ข้อมูลเพิ่มเติม คุณชูจิตต์ วัฒนล้ำเลิศ โทร 0-2273-4306 อีเมล์:[email protected] คุณกฤษณา ศิลประเสริฐ โทร 0-2273-4639--จบ--
-สส-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ