พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม

พุธ ๓๑ พฤษภาคม ๒๐๐๐ ๐๙:๒๑
กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กทม.
เมื่อบ่ายวันที่ 29 พ.ค. 43 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการ ณ บริเวณพลับพลาพิธี ถนนพระราม 3 ซ.32 เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) เฝ้ารับเสด็จ พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์) (นายวัฒนา อัศวเหม) (นายพินิจ จารุสมบัติ) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร.พิจิตต รัตตกุล) อธิบดีกรมโยธาธิการ (นายวรวิทย์ เลิศลักษณา) และปลัดกรุงเทพมหานคร (นายประเสริฐ สมะลาภา)
โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมเป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นโครงข่ายถนนเพื่อรองรับการขนถ่ายลำเลียงสินค้าระหว่างท่าเรือกรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการแล้วจะให้ผลตอบแทนในการลงทุนทางเศรษฐกิจถึง 18% สำหรับงานที่จะดำเนินการก่อสร้าง 2 ส่วน คือ งานถนนและงานสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา งานถนนสายหลักที่ประกอบกันเป็นส่วนของถนนวงแหวนอุตสาหกรรม คือ ถนนพระราม 3 ถนนทางรถไฟสายเก่า และถนนปู่เจ้าสมิงพราย ปัจจุบันถนนพระราม 3 และถนนปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงเหลือเพียงถนนสายรถไฟสายเก่าที่จะต้องปรับปรุงจากจุดตัดกับถนนหน้าการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปตามถนนทางรถไฟสายเก่า ถึงบริเวณจุดตัดกับถนนปู่เจ้าสมิงพราย ระยะทางประมาณ 7.8 กิโลเมตร
ส่วนงานสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะเป็นการก่อสร้างสะพานขึงมีความกว้าง 7 ช่องจราจร มีความสูงถึง 54 เมตร ความยาว 4.2 กิโลเมตร ตรงกลางสะพานมีทางแยกต่างระดับ ขนาดความกว้าง 4 ช่องจราจร ซึ่งจะเชื่อมโยงถนนพระราม 3 ถนนปู่เจ้าสมิงพราย และถนนสุขสวัสดิ์เข้าด้วยกัน สามารถใช้เป็นเส้นทางในการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าระหว่างท่าเรือกรุงเทพ ไปยังโรงงานอุตสาหกรรม และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งตามแผนการดำเนินโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2547 จุดเด่นของโครงการนี้คือ ทางด้านวิศวกรรมเป็นสะพานขึงแห่งแรกในประเทศไทยที่มีชุมทางเชื่อมต่ออยู่ที่กลางสะพาน สูงจากทางเดินประมาณ 50 เมตร และเป็นสะพานขึงที่มีขนาด 7 ช่องจราจร แตกต่างจากเส้นทางทั่วไปที่มีช่องจราจรเป็นเลขคู่
นอกจากนั้นสะพานยังมีจุดเด่นด้านสถาปัตยกรรมไทยด้วย เนื่องจากเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างใกล้บริเวณปากอ่าว กรมโยธาธิการ จึงเน้นตรงยอดเสาสูงของสะพานจะออกแบบเป็นเหลี่ยมเพชร สูงประมาณเกือบ 130 กว่าเมตร ตรายอดจะเป็นรูปชฎา หรือเจดีย์ เพื่อเป็นสิ่งดึงดูดสนใจให้นักท่องเที่ยวมาชมความสวยงาม ส่วนพื้นที่ใต้สะพานจะพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่นเป็นพื้นที่สีเขียวต่อเนื่องกลมกลืนกับพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติในเขตบางกระเจ้าต่อไป--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version