กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--กทม.
นายสมภพ ระงับทุกข์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กทม. (สนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักพัฒนาชุมชนกำลังดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับชาวชุมชนที่ถูกรื้อย้ายจากการบุกรุกใต้สะพาน จำนวน 695 ครอบครัว จาก 65 สะพาน ในพื้นที่เขต 26 เขต โดยแบ่งพื้นที่รองรับออกเป็น 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่รองรับที่ 1 ซอยประชาอุทิศ 76 เขตทุ่งครุ พื้นที่รองรับที่ 2 หลังชุมชน 40 ไร่ อ่อนนุช เขตประเวศ และพื้นที่รองรับที่ 3 ถนนเพิ่มสิน — ออเงิน เขตสายไหม พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนา คุณภาพชีวิตของชาวชุมชนใต้สะพานให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยการจัดเตรียมความพร้อมทั้งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและรายได้เพื่อให้ชาวชุมชนใต้สะพานสามารถเลี้ยงตนเองได้ อีกทั้งลดการเกิดปัญหาสังคมอีกทางหนึ่งด้วย
รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า สนช. ได้ดำเนินการสำรวจเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของชาวชุมชนใต้สะพาน ผลปรากฏว่าชาวชุมชนใต้สะพานส่วนใหญ่มีงานทำอยู่แล้ว เช่น การเก็บของเก่า การร้อยพวงมาลัยและอาชีพรับจ้างตามร้านค้าทั่วไป แต่ชาวชุมชนยังต้องการอาชีพเสริม เพราะบางรายยังว่างงานอยู่และมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในครอบครัว นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าชาวชุมชนมีความต้องการอาชีพเสริม โดยอาชีพเสริมที่ชาวบ้านสนใจมากเป็นพิเศษ ได้แก่ การประดิษฐ์ของชำร่วยที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า อาชีพการเกษตร (การเพาะเห็ดและการเลี้ยงปลาสวยงาม) การทำดอกไม้จันทน์ ช่างยนต์ การจัดดอกไม้สดตามงานพิธีต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น สนช. จึงได้จัดเตรียมโรงเรียนฝึกอาชีพและศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. ในสังกัด สนช. ออกหน่วยเคลื่อนที่ลงพื้นที่ฝึกสอนวิชาชีพเหล่านี้ให้ชาวชุมชนใน 3 พื้นที่รองรับ โดยเริ่มนำร่องฝึกสอนวิชาชีพครั้งแรกในพื้นที่รองรับที่ 1 และ 3 ได้แก่ การทำขนม - อาหาร (โดนัทไส้กรอก ขนมจีบ ขนมฝักบัว ขนมดอกจอก และปาท่องโก๋) การนวดฝ่าเท้า การประดิษฐ์ของชำร่วยจากวัสดุเหลือใช้ ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า การเพาะเห็ด และการเลี้ยงปลาสวยงาม เป็นต้น และดำเนินการฝึกสอนวิชาชีพต่อไปในพื้นที่รองรับที่ 2 ในวันที่เสาร์ที่ 1 และวันอาทิตย์ที่ 2 ธ.ค.44 ประกอบด้วยการฝึกสอนวิชาชีพการทำขนม — อาหาร (การทำซาลาเปาและการทำ ถั่วเคลือบ) การเลี้ยงปลาสวยงาม การเพาะเห็ด การทำดอกไม้เกล็ดปลา การทำการบูรหอม และการประดิษฐ์ของชำร่วยจากวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
รองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า การออกหน่วยเคลื่อนที่ฝึกอาชีพในครั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ชาวชุมชนใต้สะพานสามารถนำอาชีพที่ได้รับจากการฝึกอบรมมาประกอบอาชีพหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งนอกจากจะเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้แล้ว หากชุมชนมีความเข้มแข็งเพียงพอก็จะสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์ของตนที่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดย สนช. จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาด ด้วยการนำมาวางจำหน่ายในตลาดสินค้าชุมชนที่มีอยู่ถึง 20 แห่งทั่วกทม. ซึ่งจะนำรายได้เข้าสู่ชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถพึ่งพาและเลี้ยงตัวเองได้ในที่สุด--จบ--
-นห-
- ม.ค. ๒๕๖๘ กำชับสถานีดับเพลิง กทม. เฝ้าระวังพร้อมรับมือช่วงอากาศแห้ง-ร้อน
- ม.ค. ๔๘๙๘ รับมอบเรือห่วงยางช่วยน้ำท่วมจากชาวนครพนม
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: ประเมินผลรักษาฯ