กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2544 มีบริษัทจดทะเบียนนำส่งงบการเงินงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2544 แล้ว จำนวน 366 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 96 จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 380 บริษัท ปรากฎว่ามีบริษัทที่มีผลการดำเนินงานกำไรสุทธิถึง 257 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ในขณะที่มีบริษัทที่ขาดทุนสุทธิจำนวน 109 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 30
"ถึงแม้ภาวะการลงทุนในปัจจุบันยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจากการขาดแคลนสินค้าที่ น่าสนใจ พอที่จะดึงดูดให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จนส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีขนาดเล็กลง แต่หากจะพิจารณากันให้ดีแล้วจะเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ยังมีสินค้าที่มีคุณภาพอีกมาก โดยดูได้จากสรุปผลการดำเนินงานประจำงวด 6 เดือน มกราคม-มิถุนายน 2544 โดยรวมของบริษัทจดทะเบียนที่ได้นำส่งมายังตลาดหลักทรัพย์นั้นบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีผลกำไรดีขึ้นกว่าผลกำไรในรอบระยะเวลาเดียวกันในปี 2543 ถึงร้อยละ 275 โดยในปี 2544 มีกำไรสุทธิ 126,526 ล้านบาท ในขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 72,167 ล้านบาท และหากไม่รวมบริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน หรือกลุ่ม REHABCO แล้ว ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 394 หรือมีกำไรสุทธิ 129,038 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในรอบเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 43,873 ล้านบาท" กรรมการผู้จัดการกล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ จำนวน 286 บริษัท ไม่รวมสถาบันการเงินและบริษัทในหมวด REHABCO มีผลการดำเนินงานปรับตัวสูงขึ้นมากคือในปี 2544 มีผลกำไรสุทธิ 45,405 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 ส่วนในขณะที่ในปี 2543 มีกำไรสุทธิ 32,293 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2544 จำนวน 10,165 ล้านบาทแล้ว บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการจะมีผลการดำเนินงานโดยรวม 55,570 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2543 ที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 11,595 ล้านบาท ทางด้านยอดขายโดยรวมของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จาก 621,691 ล้านบาท ในปี 2543 เป็น 726,837 ล้านบาทในปีนี้ ส่งผลให้บริษัทในกลุ่มนี้มีอัตรากำไรขั้นต้นถึงร้อยละ 23
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกำไรสุทธิมีทั้งสิ้น 24 หมวด หรือคิดเป็นร้อยละ 86 มีผลกำไรสุทธิรวม จำนวน 47,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลกำไรสุทธิ 33,810 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 39 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มพลังงาน กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มสื่อสาร กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์ มีผลกำไรสุทธิ จำนวน 27,625 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของกำไรสุทธิของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไร ทั้งนี้หากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 4,081 ล้านบาท จะมีผลให้บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 67
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลขาดทุนมีจำนวน 4 กลุ่มเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 14 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 1,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีผลขาดทุน 1,517 ล้านบาท หรือร้อยละ 15 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลขาดทุนสุทธิได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ กลุ่มเครื่องมือและเครื่องจักร และกลุ่มการแพทย์
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการกล่าวว่า "ทางด้านผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น ธนาคารพาณิชย์ จำนวน 13 แห่ง และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีผลการดำเนินงานรวมดีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีกำไรสุทธิ จำนวน 81,412 ล้านบาท เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมาที่บริษัทประสบผลขาดทุนถึง 75,851 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 207 ทั้งนี้ เนื่องมาจากในไตรมาสที่สองของปี 2544 ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) (BMB) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) มีรายการพิเศษจากการโอนกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมาเป็นรายได้ เพื่อล้างขาดทุนสะสมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2544 จำนวนรวม 98,758 ล้านบาท รวมทั้งมีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารพาณิชย์ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 และการตั้งสำรองหนี้และหนี้สงสัยจะสูญลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 57 ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าวในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารพาณิชย์โดยรวมจะมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 17,346 ล้านบาท ซึ่งก็ยังดีกว่างวดเดียวกันของปีก่อน"
สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักทรัพย์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ โดยสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ จำนวน 20 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มี 16 บริษัท ที่มีผลกำไรสุทธิ โดยมีเพียง 4 บริษัท ที่ประสบกับภาวะขาดทุน ซึ่งในปี 2544 นี้บริษัทในกลุ่มนี้มีกำไรสุทธิ จำนวน 2,221 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2543 บริษัทประสบกับภาวะขาดทุน จำนวน 315 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องมาจากความสามารถในการทำกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก
"ด้านความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2544 ปรากฎว่ามีบริษัทจดทะเบียนรายงานความคืบหน้ามาทั้งสิ้น 146 บริษัท หนี้ที่มีการปรับโครงสร้างเรียบร้อยแล้วมีจำนวน 858,394 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2543 ร้อยละ 19 ซึ่งในจำนวนหนี้ที่ปรับแล้วนี้ เป็นของบริษัทที่ดำเนินการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูกิจการโดยกระบวนการศาลล้มละลายจำนวน 27 บริษัท" กรรมการและผู้จัดการกล่าวสรุป
ผู้สนใจสามารถดูสรุปฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญรายอุตสาหกรรม งวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2544 ฉบับภาษาไทยได้ที่ http://www.set.or.th/download/conclusionq2_t.xls และฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.set.or.th/download/conclusionq2_e.xls
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสารนิเทศ : ลดาวัลย์ ไทยธัญญพานิช โทร. 0-2229 - 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 - 2037 / จิวัสสา ติปยานนท์ โทร. 0-2229 - 2039--จบ--
-นห-